กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย
เมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17.00 น. ณ โรงแรมยู สาทรกรุงเทพฯ สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยจัดงานเสวนา SMEs DINNER TALK 2018 : SMEs ไทยสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงGMS โดยนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เสวนาในหัวข้อ แนวทางการส่งเสริม SMEs สู่ GMS และGlobal และ นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เสวนาในหัวข้อ SMEs Smart Province สู่การรวมกลุ่มของ ASEAN SMEs
นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวในงาน "SMEs Dinner Talk 2018 : SMEs ไทยสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงGMS" ว่า สภาเอสเอ็มอีเตรียมจัดตั้งโครงการ SMEs Smart Province เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการระดับจังหวัด และพัฒนาสินค้าเด่นสร้างเป็น Brand Province โดยมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าระบบ500,000 รายใน 5 ปี และ 1,000,000 รายใน 10 ปี
ทั้งนี้ ปัญหาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ของไทยเรื้อรังมานาน เนื่องจากประเทศ ไทยไม่มีนิยามโครงสร้างการส่งเสริมผู้ประกอบการที่เป็นเอกภาพ หลายหน่วยงานมีนิยามต่างกันออกไป รวมทั้งไม่ได้บูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม ให้ร่วมขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การดำเนินโครงการต่างๆ กระจัดกระจายและไม่ต่อเนื่อง
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา จึงควรเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งจากระดับจังหวัด ด้วยโครงการ SMEs Smart Provinceซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสภาเอสเอ็มอี เพื่อสนับสนุนความรู้ความเข้าใจในการเข้าถึงแหล่งทุน และองค์ความรู้ต่างๆ โดยบูรณาการความร่วมมือและใช้กลไกทุกภาคส่วนของจังหวัดในการขับเคลื่อนทั้งระบบ ประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สสว. ภาคเอกชน ได้แก่ สภาเอสเอ็มอีจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาคม มูลนิธิ วิสาหกิจ ชุมชน และบริษัทประชารัฐ ภาคการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัย มทร. และ มรภ. ในจังหวัด และภาคสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐที่อยู่ในจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขใน 3 ประเด็นปัญหาหลักของ SMEs คือ
1) การตลาด โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยการรับรองระบบคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การได้ตรามาตรฐานฮาลาล และการสร้าง Brand Province โดยความร่วมมือกับบริษัทประชารัฐในการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ ได้แก่ ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุ
2) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับธนาคารให้ความรู้กับ SMEs ในการเตรียมตัวขอสินเชื่อ ธนาคาร และการเข้าสู่ระบบด้วยบัญชีเดียว โดยการจัดอบรมให้กับผู้ประกอบการทั้งที่เข้าระบบแล้วและยังไม่เข้าระบบให้ทราบแนวทางและการเตรียมตัวเพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งทุนภาคสถาบันการเงินในอนาคตได้
3) การให้องค์ความรู้ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้คนรุ่นใหม่สำเร็จออกมาเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีคุณภาพ รวมทั้งการสนับสนุนติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้ประกอบการ ด้วยหลักสูตรการศึกษาไร้ปริญญา และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ