กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พฤศจิกายน 2561 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตบางเขน) กรุงเทพฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า โดยมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานบริหารจัดการโครงการ ร่วมกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ บริษัท บางสมบุญ จำกัด ในการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลที่สามารถช่วยสนับสนุนในธุรกิจแฟรนไชน์และกิจการร้านอาหาร ให้สามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า "เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้หลักการ "วิศวกรรมย้อนรอย" ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อทดแทนการนำเข้าและช่วยลดดุลการค้าของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาเครื่องจักร/เครื่องมือ/อุปกรณ์ ที่ทันสมัยจากต่างประเทศตามความต้องการของผู้ใช้ในประเทศ ด้วยคุณภาพ ราคาที่สามารถแข่งขันได้"
รศ.ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "ในภาพจะเห็นได้ว่าสามารถจัดการออกแบบระบบควบคุม ออกแบบระบบการป้อนโดยใช้คอมพิวเตอร์ แนวคิดตรงนี้ จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับระบบต่างๆในการผลิต หรือแม้กระทั่งในเรื่องของอาหารในระดับโรงแรม 5ดาว การควบคุมการผสมทำให้รสชาดคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง"
ทางด้านผู้ประกอบการ นางนงพุธ ชื่นชม กรรมการบริหารของ บจก. บางสมบุญ เล่าว่า "การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ การควบคุมความคงที่ของรสชาดอาหารถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้นเครื่องนี้จะช่วยทำให้เกิดความแม่นยำของรสชาด และยังสามารถลดการใช้แรงงานคนในการปรุงอาหารด้วย ต้องขอขอขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ช่วยกันสนับสนุนและพัฒนาเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการปรุงอาหารนี้"
สำหรับเครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม มีหลักในการทำงาน คือ สามารถป้อนเครื่องปรุงทั้งชนิดผงและของเหลว ลงสู่ภาชนะที่กำหนดได้โดยอ้างอิงปริมาณจากสูตรจากต้นตำรับ เครื่องปรุงอาหารระบบอัตโนมัติจะมีส่วนหลักทั้งหมดสองส่วน คือส่วนป้อนวัตถุดิบที่เป็นผงและส่วนป้อนเครื่องปรุงที่เป็นของเหลว เครื่องปรุงที่เป็นผงจะถูกบรรจุอยู่ในถังบรรจุซึ่งมีใบกวน คอยกวนวัตถุดิบ ในส่วนล่างของถังบรรจุจะติดตั้งส่วนตวงวัดเครื่องปรุง และวัตถุดิบจะถูกป้อนลงสู่ภาชนะบรรจุโดยใช้กระบอกลมในการผลักส่วนตวงวัดเครื่องปรุง วัตถุดิบจะหล่นลงสู่ภาชนะบรรจุโดยแรงโน้มถ่วงของโลก สำหรับเครื่องปรุงที่เป็นของเหลวจะถูกบรรจุใน กระบอกบรรจุ ในส่วนฝาปิดด้านบนของกระบอกจะมีท่อสวมต่อสำหรับป้อนความดันเข้าสู่กระบอกบรรจุ ของเหลว เพื่อช่วยในการลำเลียงของเหลวไปตามระบบ และในส่วนด้านล่างของกระบอกจะมีท่อต่อลำเลียง วัตถุดิบเพื่อรอป้อนเข้าสู่ภาชนะ โดยควบคุมการจ่าย และควบคุมปริมาณวัตถุดิบของเหลวผ่านวาล์ว ซึ่งจะควบคุมการเปิดปิด โดยระบบลมผ่านวาล์วควบคุมการจ่ายลม ซึ่งอุปกรณ์และ ส่วนประกอบทั้งหมดจะถูกติดตั้งบนรถเข็นสำหรับขายอาหาร เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก และตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
คณะผู้ดำเนินงานวิจัยได้ทำการทดสอบความสามารถในการทำงานของเครื่องโดยการทดสอบกับเครื่องปรุงจริงที่ได้รับจากร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำแซ่บ ซึ่งเป็นสูตรต้นตำรับ โดยมี เครื่องปรุงชนิดผง 4 ชนิด ได้แก่ กุ้งแห้ง ถั่วลิสงคั่วป่น พริกแห้งป่น น้ำตาลทราย และเครื่องปรุงของเหลว 3 ชนิด ได้แก่ น้ำปลา น้ำส้มสายชู และน้ำเชื่อม โดยทดสอบเดินเครื่องและปรับค่าให้ใกล้เคียงสูตรที่ได้รับจากต้น ตำรับ และพิจารณาผลที่ได้ในแง่ของความแม่นยำ และความคลาดเคลื่อน พบว่ามีความแม่นยำถึง 92-99% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการพึ่งพอใจ และถือได้ว่าเป็นไปตามความต้องการ ของผู้ประกอบการและเจ้าของสูตร ทั้งในเรื่องของความคงที่ของรสชาติของก๋วยเตี๋ยวต้มยำ และระยะเวลาใน การทำก๋วยเตี๋ยวต้มยำในแต่ละชามจนพร้อมเสิร์ฟให้แก่ลูกค้า