กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
"น้ำบ่อตอก" ทางออกเกษตรกรบ้านนางอย-บ้านโพนปลาโหล ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร เพื่อการบริหารจัดการน้ำสำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง หลังพบว่าปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยค้อเริ่มไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรจากการขยายพื้นที่ทำการเกษตรนอกคลองส่งน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยชุมชนเปิดใจใช้งานวิจัยเข้ามาแก้ปัญหา ลดความขัดแย้ง และยังช่วยทำให้ค้นพบภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาสู่การรื้อฟื้นน้ำบ่อตอกนวัตกรรมการจัดการน้ำของชุมชนได้มีน้ำใช้ตลอดปี
บ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ในอดีตเป็นหมู่บ้านทุรกันดาร ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านมีฐานะยากจน อาชีพทำนาปีอาศัยฝนเป็นหลักก ไม่มีอาชีพเสริม เนื่องจากภูมิประเทศเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ ขาดแคลนน้ำ จนกระทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านนางอย และให้เป็นหมู่บ้านในโครงการพระราชดำริ และมีพระราชดำรัสให้สร้างอ่างเก็บน่าห้วยค้อ เพื่อกักเก็บน้ำในการอุปโภคบริโภคและเป็นแหล่งน้ำทางด้านการเกษตรและการประมงแก่ชาวบ้านในหมู่บ้านนางอยและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีอาชีพ และทรงให้มีการจัดตั้งโรงงานหลวงขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรของราษฎรนำไปแปรรูป เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่
หลังจากมีอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ชาวบ้านได้ใช้น้ำในการทำเกษตรเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง อาทิ มะเขือเทศ พริก ฯลฯ ผลผลิตส่งขายเข้าโรงงานหลวงดอยคำที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งของเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ ความต้องการน้ำใช้ในการเพาะปลูก เริ่มขาดแคลนและไม่เพียงพอ เป็นที่มาของโครงการวิจัยการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่เหมาะสมกับพืชฤดูแล้ง โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและภาคเครือข่ายในเขตพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
ดร.ปทุมทิพย์ ม่านโคกสูง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้เข้าไปจัดเวทีระดมความคิดกับชาวบ้าน และหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นอำเภอเต่างอย ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน และเกษตรกร ทั้งชาวบ้านจากบ้านนางอย และบ้านโพนปลาโหล เพื่อร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ เพื่อการปลูกพืชฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เพื่อความยั่งยืน
" จากการบอกเล่าของชุมชน พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ จะไม่เพียงพอในการปลูกพืชฤดูแล้งและการปลูกข้าวนาปีในปีที่มีน้ำฝนน้อย นอกจากนี้ยังพบปัญหาการบริหารจัดการน้ำในด้านการควบคุมปริมาณ การเปิดปิดน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ปัญหาการปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นที่การเกษตรของผู้อื่น ปัญหาการทำรูผีเพื่อลักลอบปล่อยน้ำเข้าที่นาของเกษตรกรที่ไม่มีคลองส่งน้ำผ่าน รวมถึงการขาดระบบและกลไกลบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ และขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำของผู้ใช้น้ำ จึงนำมาสู่การศึกษาวิจัยการบริการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่เหมาะสมกับพืชฤดูแล้ง โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรฯ ขึ้น เมื่อปี 2558 "
โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research หรือ PAR) ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ใช้พื้นที่ชุมชนเป็นฐานการวิจัย เพื่อการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การพัฒนาโจทย์วิจัย การร่วมเรียนรู้เทคนิควิธีการแบบวิจัยชมุชน เพื่อพัฒนาโจทย์กระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนบนฐานของชุมชน(Community Based Research : CBR) การพัฒนากลุ่มนักวิจัยไทบ้านและคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร เก็บข้อมูลภาคสนาม สำรวจการปลูกพืชฤดูแลง ปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณน้ำในอ่าง การใช้แบบสัมภาษณ์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้ง การจัดทำสนทนากลุ่มผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการผู้ใช้น้ำ ชลประทาน โรงงานหลวง และเกษตรอำเภอ นำข้อมูลที่ได้มาร่วมวิเคราะห์ รวมทั้งการทำ Mapping หรือแผนที่โซนผู้ใช้น้ำ และการคืนข้อมูลแก่ชุมชน รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ ทั้งสิ้น 1 ปี 6 เดือน
จากการศึกษาพบว่า ด้วยสภาพพื้นที่บ้านนางงอย และบ้านโพนปลาโหล เป็นที่ราบเชิงเขา สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายไม่อุ้มน้ำ มีการปลูกพืชฤดูแล้ง อาทิ มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน มันสำปะหลัง มันฝรั่ง ข้าวโพดฝักสด หลังฤดูเกี่ยวข้าว ในช่วงเดือนพ.ย.- เม.ย.ในพื้นที่ 4,000 ไร่ โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยค้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากการวิจัยทำให้ได้ข้อค้นพบที่สำคัญ คือ ในอดีตชุมชนใช้น้ำโดยพึ่งพาน้ำจากธรรมชาติ เช่น ลำห้วย หนอง บึง และมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรียกว่า"น้ำบ่อตอก" ถือเป็นนวัตกรรมชุมชนในการจัดการน้ำแบบบ้านบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นปู่ย่าตายายที่บ่งบอกถึงการพึ่งพาตนเองที่จะอยู่กับธรรมชาติ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ค้นหาในสิ่งที่จะทำให้คนในชุมชนอยู่รอดจากการหาแหล่งน้ำมาใช้ในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในอดีต
"น้ำบ่อตอก" คือ ภูมิปัญญาของเกษตรกรในการใช้น้ำที่สูบจากลำห้วยมาใช้เพิ่มเสริมน้ำจากคลองส่งน้ำ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักสวนครัว และเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นหลัก เมื่อเกิดปรากฎการณ์ขวยแมงมอในอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติว่าน้ำในอ่างจะหมด นอกจากนี้พบว่าในอดีตชาวบ้านจะมาช่วยกัน เรียกว่าการละวาน เพื่อช่วยกันทำเหมืองดานเลา (หรือ ลานหิน) สำหรับเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้แบบพออยู่พอกิน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณที่คนในชุมชนช่วยกันคิดค้นการเก็บน้ำจากธรรมชาติไม่ให้ไหลทิ้งหรือไหล่บ่าลงไปในที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เกษตร ทำให้เห็นว่าวิถีชีวิตของชุมชนในอดีตอยู่กันแบบพึ่งพิงธรรมชาติไม่ได้พึ่งพาภายนอก แต่หลังจากที่มีระบบชลประทานเข้ามา ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนไป จากที่เคยร่วมมือร่วมแรงก็หายไป เกษตรกรไม่พึ่งตนเอง รอคอยการช่วยเหลือและงบประมาณจากรัฐเท่านั้น ขาดการมีส่วมร่วม ขาดความเอื้ออาทร ต่างคนต่างขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากขึ้น ใช้น้ำมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ ส่งโรงงานหลวง จนในที่สุดความสามัคคีหายไป ชุมชนเกิดความอ่อนแอ
หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า บทเรียนที่ได้จากงานวิจัยนี้ ทำให้ชุมชนเกิดความต้องการที่จะรื้อฟื้นภูมิปัญญาการจัดการน้ำแบบบ้านบ้าน"น้ำบ่อตอก"มาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบชลประทานอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการน้ำสมัยใหม่ เพื่อหาแนวทางหรือกลไกการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่เหมาะสมกับพืชฤดูแล้งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐตลอดเวลา และผลจากการศึกษา นอกจากได้ค้นพบและมีการรื้อฟื้นภูมิปัญญาน้ำบ่อตอกแล้ว ยังมีการใช้ภูมิปัญญา ภูมินิเวศ สร้างการมีส่วนร่วมหรือการละวานในการทำเหมืองดานเลา เพื่อไม่ให้น้ำไหลบ่าทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ ชุมชนหันมาพูดคุยพบปะกัน ความขัดแย้งลดลง อีกทั้งยังได้ร่วมกัน
กำหนดกฎระเบียบข้อบังคับกติกาชุมชนของผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยค้อขึ้นบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่เป็นเพียงเสือกระดาษ โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2559
นอกจากนี้ ยังทำให้ชุมชนโดยเฉพาะนักวิจัยชุมชนได้พัฒนาศักยภาพตนเอง ได้เรียนรู้การจัดการน้ำจากการทำวิจัยไทบ้าน ได้รู้ข้อมูลของชุมชนด้านการใช้น้ำ ได้รื้อฟื้นภูมิปัญหาน้ำบ่อตอก ส่วนกรรมการผู้ใช้น้ำยังได้เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน และนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจให้กับคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำ และแผนที่โซนผู้ใช้น้ำ ที่สำคัญชุมชนมีการจัดทำฐานข้อมูลผู้ใช้น้ำที่ชัดเจน ทำให้ชุมชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ต่อกันมากขึ้น ทั้งคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ มีการปรับตัวกับการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสม ไม่ใช้น้ำสิ้นเปลือง หรือปล่อยน้ำทิ้งให้สูญเปล่าเหมือนในอดีต
ดร.ปทุมทิพย์ กล่าวอีกว่า "หากให้พูดถึงจุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ การทำให้ชุมชนได้ค้นพบตัวตนของเขาว่า ทำได้ ทำจริง และการร่วมมือร่วมแรงจะช่วยลดความขัดแย้งได้ รวมถึงการจัดการน้ำเพื่อการพึ่งตนเองโดยการใช้ภูมิปัญญานวัตกรรมชุมชนน้ำบ่อตอก ช่วยให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ภายใต้กฎกติกาของชุมชนเรื่องการใช้น้ำ"
อย่างไรก็ตาม การใช้ชุมชนเป็นฐานการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ถือเป็นเครื่องมือที่ทำให้งานวิจัยนี้ได้ปลุกเปลี่ยน"คน" ลุกขึ้นมาสร้างกฎระเบียบชุมชนและร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งจากการใช้น้ำได้ในที่สุด ทำให้เกษตรกรรู้จักการจัดการน้ำโดยการพึ่งตนเอง ที่สำคัญชุมชนได้มีน้ำใช้ตลอดหลังฤดูทำนาจาก "น้ำบ่อตอก"นวัตกรรมการจัดการน้ำภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรบ้านนางอย ต.เต่างอย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีแหล่งน้ำหรืออยู่นอกพื้นที่ชลประทานได้