กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อกำหนดและปรับปรุงกรอบและขั้นตอนการกำกับดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในอาเซียน (Regional Workshop for Alignment and Improvement of Regulatory Framework and Procedures to Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN) ภายใต้โครงการ Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN (FTAG) ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ (Deutsche Gesellschaft fuer Internationale Zusammenarbeit;GIZ) เพื่อเพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการค้าสินค้าพืชระหว่างประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณสังคมนิยมเวียดนาม ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จังหวัดชลบุรี
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้ประสานความร่วมมือกับ มกอช. อย่างต่อเนื่อง ในการศึกษาและหาแนวทางในการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกให้กับสินค้าพืชระหว่างประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งโครงการ Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN (FTAG) ของ GIZ อยู่ระหว่างการดำเนินการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการค้าสินค้าพืชใน 3 ประเทศ ดังกล่าว
จากความร่วมมือ จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อกำหนดและปรับปรุงกรอบและขั้นตอนการกำกับดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในอาเซียน (Regional Workshop for Alignment and Improvement of Regulatory Framework and Procedures to Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการอารักขาพืช เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอารักขาพืช ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 20 คน มาเพื่อระดมสมองและร่วมกันอภิปรายในประเด็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการค้า อาทิ ขั้นตอนการสุ่มตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์ที่ด่านกักกันพืช การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช การจัดทำรายชื่อศัตรูพืชของแต่ละประเทศ การกำหนดปริมาณสารตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ (MRLs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับฟังรายงานการศึกษาเปรียบเทียบกฎระเบียบด้านการอารักขาพืช ตลอดจนขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืชของแต่ละประเทศ รวมทั้งได้ร่วมกันจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหา เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินการ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าพืชภายในภูมิภาคอาเซียน ต่อไป เลขาธิการกล่าว...