กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด และนายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง ไรส์ สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "Krungsri RISE รุ่น 3 Demo Day 2018" แรงทั่วไทย ดังไกลทั่วเอเชีย พร้อมโชว์ผลงาน Prototype ของ 10 สตาร์ทอัพในอาเซียนที่เข้ารอบ เผยตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์ ที่ Bootcamp แต่ละทีมมีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้เกิดคอนเนคชั่นกับพันธมิตรรอบด้านเพื่อมุ่งตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และภูมิภาคอาเซียน
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรี มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาดำเนินธุรกิจให้เติบโต อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่แข่งขันกันรวดเร็วในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์รวมไปถึงองค์กรมีความทันสมัย ตอบโจทย์การพลิกโฉมธุรกิจด้วยแนวคิดดิจิทัล และโครงการ "Krungsri RISE รุ่น 3 แรงทั่วไทย ดังไกลทั่วเอเชีย" ที่ได้ดำเนินการร่วมกับทาง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค ซึ่งทางกรุงศรีได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในรุ่นที่ 3 นี้ นอกจากจะมุ่งค้นหาสตาร์ทอัพที่เชียงใหม่และขอนแก่นแล้ว ยังได้ขยายการประชาสัมพันธ์โครงการไปที่ประเทศสิงคโปร์ และเวียดนามเพื่อค้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วอาเซียน โดยคัดเหลือ 10 ทีม ที่เหมาะสมกับธุรกิจของกรุงศรีซึ่งมุ่งเน้นในเรื่อง Big Data, Artificial Intelligence, ระบบการชำระเงิน (Payment) เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างดีที่สุด และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ในตลาด และที่ผ่านมากรุงศรีได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การบริหารจัดการด้านคะแนนเครดิต (Credit Scoring) เพื่อการสมัครบัตรเครดิต ของกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ เป็นต้น คาดว่าภายในสิ้นปี 2561 จะมีสตาร์ทอัพกว่า 40 บริษัทในการร่วมพัฒนาโครงการต่าง ๆ กับกรุงศรี
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า กรุงศรี ฟินโนเวต นอกจากจะลงทุนใน Fund of Fund แล้ว บริษัทยังได้ลงทุนตรงในสตาร์ทอัพไปแล้ว 3 บริษัท โดย 2 บริษัทที่ลงทุนเป็นบริษัทที่เคยผ่านโครงการ Krungsri RISE มาแล้ว โดยแต่ละสตาร์ทอัพถือว่ามีจุดแข็งที่แตกต่างไป ทั้งในด้าน Robo Advisor, Payment Solutions และ Data Analytics เพราะสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำงานของธุรกิจในเครือกรุงศรีได้เป็นอย่างดี รวมทั้งปีนี้ตั้งเป้าด้วยว่าจะลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มอีก 4 บริษัท ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อช่วยเติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร
สำหรับโครงการ Krungsri RISE รุ่น 3 แรงทั่วไทย ดังไกลทั่วเอเชีย ยังมีความพิเศษเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยทางโครงการได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจาก Business Unit ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและบริษัทในเครือ ได้แก่ Commercial Products, Human Resource, Consumer Digital Solution, UCHOOSE Application, Krungsri Auto, Krungsri Finnovate และ Innovation Lab โดยสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีม ที่ผ่านเข้ามามีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในหลายหมวดหมู่ อาทิ Chatbot, SaaS, AI รวมถึงโปรแกรมสมนาคุณเพื่อสร้างความภักดีระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ บริการที่ปรึกษาแบบอัตโนมัติ การคืนเงินเกี่ยวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ ยานยนต์ การวิเคราะห์ข้อมูล การโฆษณาในวิถีชีวิตแบบใหม่ เมืองอัจฉริยะ และการให้คะแนนด้านสินเชื่อ เป็นต้น
นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค กล่าวว่า ปัจจุบันเราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา โดยเห็นได้ชัดว่าการลงทุนในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับธุรกิจดิจิทัลค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามการทำให้สตาร์ทอัพเติบโตในประเทศใดได้ ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับ Ecosystem หรือ ระบบนิเวศของประเทศนั้น ๆ ต้องเอื้อต่อการทำธุรกิจ รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริม ซึ่งสิ่งแรกที่สตาร์ทอัพต้องการคือแหล่งเงินทุน โดยเงินก้อนแรกของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มาจากครอบครัว แต่เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโต ก็จะเริ่มมองหาทุนจากนักลงทุนที่เรียกว่า "Angle Investor" เป็นนักลงทุนอิสระที่มีทุนมาก แต่เมื่อสตาร์ทอัพเริ่มโต เงินจาก Angle เริ่มไม่พอ ก็ต้องไปเจรจากับ VC ซึ่งมีเงินทุนหนากว่า แต่ก็คาดหวังผลตอบแทนสูงมีหุ้นส่วนในกิจการสตาร์ทอัพเช่นกัน
โครงการ Krungsri RISE รุ่น 3 แรงทั่วไทย ดังไกลทั่วเอเชียครั้งนี้มีโปรแกรมพัฒนาศักยภาพสุดเข้มข้น 12 สัปดาห์ คือมีจำนวนผู้ให้คำแนะนำ(Mentor) ที่มากขึ้นและมาจากหลากหลายอาชีพ เพื่อมุ่งเน้นความเข้มข้นของหลักสูตร และความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้นมุ่งให้เกิดคอนเนคชั่นจากพันธมิตรคู่ค้ารอบด้าน เพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านธุรกิจให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง และสามารถขับเคลี่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปข้างหน้าด้วย
สำหรับทีมสตาร์ทอัพ 10 ทีม ที่ผ่านคัดเลือก ได้แก่
- ทีม Accrevo ผู้ให้บริการบัญชีครบวงจรออนไลน์ (Accounting Services Platform) ที่จะช่วย SMEs บริหารจัดการด้านเอกสารทางบัญชีเชื่อมโยงข้อมูลและควบคุมความถูกต้องโดยใช้เทคโนโลยี
- ทีม Botbot.AI จากประเทศสิงคโปร์อยู่ในหมวดหมู่ปัญญาประดิษฐ์ สตาร์ทอัพซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับธุรกิจต่าง ๆ ผ่านระบบถาม-ตอบอัตโนมัติ (Chatbot)
- ทีม Choco CRM ผู้ให้บริการด้านโปรแกรม Loyalty ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ (Loyalty Programs) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการ์ด ของรางวัล ระบบCRM POS ใช้งานง่ายและโปรโมชั่นที่สามารถปรับแต่งได้
- ทีม CryptovationX สตาร์ทอัพที่มีจุดมุ่งหมายในการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาสร้างแพลตฟอร์ม Robo-advisory ให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุน Cryptocurrency ภายใต้วิสัยทัศน์ "Wealth for All"
- ทีม Dealcha จากประเทศไทยอยู่ในหมวดหมู่การคืนเงิน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคชาวไทย ทั้งการคืนเงินแก่ผู้ใช้งานสำหรับการซื้อทุกครั้งที่สั่งซื้อผ่านพันธมิตร เว็บไซต์เงินคืนอันดับ 1 ของไทย ช่วยให้ลูกค้าได้เงินคืนเมื่อซื้อของ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ
- ทีม Drivemate ให้บริการเช่ารถแบบ peer-to-peer ที่เจ้าของรถทั่วไปก็สามารถเปิดให้คนอื่นสามารถเช่ารถของตนได้โดยตรงผ่านระบบการให้บริการที่สะดวกสบาย ในขณะที่ผู้เช่าสามารถเช่ารถได้ในราคาย่อมเยา
- ทีม EyeQ จากเวียดนามอยู่ในหมวดการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้นำแอปพลิเคชัน Computer Vision Recognition ที่ทันสมัยมาใช้ในการแก้ปัญหาของธุรกิจ ทั้งธุรกิจค้าปลีก โฆษณา การเงิน ธนาคาร และธุรกิจด้านสุขภาพ
- ทีม GYDE ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาเชิงไลฟ์สไตล์ ที่รวบรวมบริการรอบด้านไว้ด้วยกัน ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ วางแผนกลยุทธ์ การลงโฆษณา และการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์เข้าด้วยกัน
- ทีม Jump Up สตาร์ทอัพที่มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย โดยการร่วมมือกับคนที่สนใจด้านการพัฒนาไอเดียใหม่ ๆ เช่นโครงการ Smart Bus
- ทีม Lenddo จากประเทศสิงคโปร์ สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ที่นำรูปแบบการแปลงฐานข้อมูลแบบเดิมมาใช้คำนวณพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันจาก Social Network สู่เครื่องมือที่ใช้วัดพฤติกรรมความตั้งใจในการชำระหนี้ของผู้มาขอสินเชื่อ (Credit score) ช่วยให้ลูกค้าได้รับอนุมัติสินเชื่อได้เร็วขึ้น หรือแม้แต่เพิ่มโอกาสในการสมัครเข้าทำงาน