กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--มรภ.สงขลา
คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมกระทงไทย Go อินเตอร์ ชวนนักศึกษาไทย-นิวซีแลนด์ เรียนรู้การแสดงพื้นบ้าน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสองประเทศ
อ.ณับปราณ เตียวสกุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-นิวซีแลนด์ : กระทงไทย Go อินเตอร์ ณ ลานกิจกรรมอาคารเรียน 3 คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่าวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานมีความรู้เกี่ยวกับประเพณีและการแสดงพื้นบ้านแบบไทย และสามารถถ่ายทอดต่อให้กับชาวต่างชาติได้ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้เกิดความรักและหวงแหนในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยการปฏิบัติให้เห็น โดยทางคณะฯ ได้เชิญนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศนิวซีแลนด์ มาเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงของไทย พร้อมทั้งการแสดงชุดภูมิใจใต้ ขณะเดียวกันนักศึกษาจากต่างแดนได้นำการแสดงศิลปะพื้นเมืองในชื่อ Pai Dance และ Haka มาถ่ายทอดให้นักศึกษาของ มรภ.สงขลา ได้รับชมด้วย อันเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างสองประเทศ
ด้าน อ.อมรรัตน์ จิรันดร อาจารย์ผู้สอนและประธานโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่าสังคมไทยยุคปัจจุบันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัย ประกอบธุรกิจ หรือศึกษาในประเทศไทย นอกจากนั้น ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างไร้พรมแดน ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการเผยแพร่และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือการผูกมิตรไมตรีและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจากหลากหลายประเทศ ด้านลบคือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในหลายมิติ อันเนื่องมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน การที่จะส่งเสริมด้านบวกและปรับทัศนคติที่เป็นเชิงลบระหว่างชาวไทยและชาวต่างชาติให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องหาหนทางนำผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม วิธีคิดและพฤติกรรมของกันและกัน
"คณะมนุษยศาสตร์ฯ เน้นการเรียนการสอนด้านความเป็นมนุษย์ และการจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรม จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เสริมสร้างความเข้าใจในการอยู่รวมกันของสังคมที่มีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม และเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้ชาวต่างชาติได้เรียนรู้ และมีความเข้าใจที่ถูกต้องในคราวเดียวกันด้วย" อ.อมรรัตน์ กล่าว
ขณะที่ Lata' I Francisco To'a นักศึกษาสาวจากประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อประเพณีลอยกระทงมาก่อนเลย แต่ด้วยความชอบในงานประดิดประดอย จึงมีความสุขและชอบมากที่ได้ทำกระทง ตนเคยเห็นชุดไทยจากโทรทัศน์รู้สึกว่าสวยงาม ดังนั้น จึงดีใจมากที่มีโอกาสใส่ชุดไทยที่ มรภ.สงขลา และดีใจที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้ จะนำความน่าสนใจของประเพณีลอยกระทงไปเล่าให้เพื่อนๆ ที่นิวซีแลนด์ ฟัง สิ่งที่ประทับใจในเมืองไทยก็คือคนไทย เพราะคนไทยมักจะยิ้มทำให้รู้สึกว่าเขาต้อนรับเราและชอบเรา
ปิดท้ายด้วย น.ส.ซาฟาวี อีซอ นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา กล่าวว่า นอกเหนือจากประเพณีลอยกระทงแล้ว ยังมีวัฒนธรรมและประเพณีไทยอีกอย่างที่อยากนำเสนอให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก แต่เนื่องจากช่วงนี้เพิ่งผ่านพ้นบรรยากาศเทศกาลลอยกระทงมาได้ไม่นาน จึงถือเป็นเรื่องดีที่ได้แลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างกัน แม้ตนจะไม่เคยทำกระทงมาก่อน เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลาม แต่เห็นเพื่อนๆ จากนิวซีแลนด์ให้ความร่วมมือและบรรยากาศตอนทำก็สนุกสนานเป็นกันเอง ทำให้รู้สึกว่าเราสามารถใช้วัฒนธรรมสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นได้