ไทย-ไต้หวันร่วมมือจัดสัมมนาอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ ชูไทยแลนด์ 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2018 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--มาร์เก็ต-คอมส์ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (Taiwan External Trade Development Council (TAITRA)) ร่วมกับ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน (the Ministry of Economic Affairs) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ ไทย-ไต้หวัน อุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และจัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากไต้หวันเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 งานสัมมนาระดับนานาชาติ ไทย-ไต้หวัน อุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ เป็นงานสัมมนาสุดยอดผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยและไต้หวัน จัดแสดงและนำเสนอเทคโนโลยีแห่งอนาคต ครอบคลุมเรื่อง นวัตกรรมยานยนต์ ระบบประหยัดพลังงาน ระบบเพาะปลูกและควบคุมอุณหภูมิไร้สายเพื่อการเกษตร ระบบบริหารขนส่งและอาคาร ระบบบันเทิงและข้อมูลยานยนต์ และระบบขนส่งเพื่อการคมนาคมอัจฉริยะ นายหมิงเยา ไส รองผู้อำนวยการบริหาร สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสุดยอดนวัตกรรมของผู้ประกอบการไต้หวัน ภายใต้ชื่อ Taiwan Excellence ตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพและนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมจากไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ ซึ่งได้นำผู้ประกอบการไต้หวันชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ต้าถง จำกัด บริษัท แอ็ดวานซ์เทค จำกัด บริษัท เวียร์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ไมโครสตาร์ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด และบริษัท เน็กซ์คอม จำกัด มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และนำเสนอสุดยอดนวัตกรรมในหลายด้าน นับตั้งแต่ การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบการบริหาร ระบบการจัดการ ซอฟท์แวร์ปฏิบัติการ จนถึงการควบคุมและประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน นายเจสัน ชวี่ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า ไทยและไต้หวัน มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากันอย่างแนบแน่น โดยในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา บริษัทชาวไต้หวันลงทุนในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 14.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทย รวมทั้งได้รับการจัดอันดับให้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย ดังนั้น ประเทศไทยจึงถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไต้หวันในด้านการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ไต้หวันมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องและเอื้อต่อการพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 นายเดชา โฆษิตธนากร กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสายงานส่งเสริมการค้าการลงทุน กล่าวว่า เป้าหมายหลักของสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องการพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างบูรณาการ การประสานความร่วมมือกับไต้หวันครั้งนี้ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ด้วยนวัตกรรมอัจฉริยะการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนนวัตกรรมให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และแข่งขันได้ในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล นวัตกรรมเด่นที่นำมาจัดแสดงและสาธิตให้แก่ผู้ประกอบการไทย ได้แก่ มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า สามารถปรับความเร็วได้ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับปลอดภัย ระดับประหยัดพลังงาน และระดับรถแข่ง ด้วยระบบเบรกอัจฉริยะ กันน้ำได้สูงถึง 40 เซนติเมตร และวิ่งได้ไกล 65 กิโลเมตรต่อการชาร์ทไฟ 1 ครั้ง ระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และน้ำ เพื่อการเกษตร ADM-3600 series ช่วยบริหารจัดการ ตรวจสอบ และเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบคลาวด์แบบ Real Time สามารถรองรับข้อมูลจำนวนมาก ลดปริมาณการสูญเสียน้ำและทรัพยากรสิ่งแวดล้ม เทคโนโลยีสื่อสารและจัดการอุปกรณ์ภายในบ้าน โรงแรม และสำนักงานอัจฉริยะ ช่วยควบคุมการใช้งานอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดอย่างครบวงจร อาทิ ระบบปลดล็อคประตูระยะไกล ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ Infrared สัญญานกันขโมย กล้องวงจรปิด ด้วยระบบไร้สายผ่านอุปกรณ์แท็บเบล็ท FUNTORO อัครบันเทิงระดับโลก นวัตกรรมจัดการข้อมูลเพื่อความบันเทิงและการขับขี่สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถโคชท่องเที่ยวกับระบบความบันเทิงบนหน้าจอที่สามารถชมภาพยนตร์ ช็อปปิ้ง ตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง หรือช่วยในการตรวจสอบการขับขี่ สื่อสารระหว่างผู้ขับขี่กับศูนย์ควบคุม รายงานผลเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือให้รางวัลผู้ขับขี่ ตรวจสอบได้ผ่านโปรแกรมบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน NEXCOM Telematics ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่อัจฉริยะ การผสมผสานเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง GPS กับการประมวลข้อมูลการสื่อสารสองทางระหว่างรถยนต์และศูนย์รับข้อมูล เพื่อระบุตำแหน่งของรถยนต์ เส้นทางที่เลือกใช้ ความเร็วที่ใช้ในการขับขี่ และวิเคราะห์พฤติกรรมในการขับขี่ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย โทร 02-651-4470-1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ