กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. ลุยอัพสกิลปริญญาตรีเพิ่มโอกาสมีงานทำ ปูพรมฝึกอบรมต่อเนื่องกว่า 20 สาขา สานฝันปริญญาได้งาน นายจ้างได้คนดีมีฝีมือ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า นโยบายขับเคลื่อนเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้จบปริญญาตรีที่ตกงาน ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการด้านแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 11 แห่ง และเปิดให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้ว ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภายนอก ตามแนวทาง "ประชารัฐ ร่วมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ" การให้บริการของศูนย์ฯ ประกอบด้วย 5 ภารกิจในแนวทางบูรณาการของกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยมุ่งช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีให้มีงานทำตามความสามารถ ให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงาน เพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะเปลี่ยนสายอาชีพ (Up-Skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ สามารถหางานทำได้ตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีหลักสูตรอบรมระยะสั้น 18-60 ชั่วโมง และระยะยาว 60 วันขึ้นไป กว่า 20 หลักสูตร ซึ่งผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ทำให้มีผู้ได้งานทำแล้วกว่า 2.4 หมื่นคน มีการแนะนำพัฒนาทักษะฝีมือกว่า 2 พันคน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ กพร.ได้ฝึกทักษะให้กับผู้จบปริญญาตรีไปแล้วกว่า 2,100 คน โดยมีหลักสูตรที่ได้รับความสนใจ อาทิ การฝึกด้านภาษาต่างประเทศ การขายสินค้าออนไลน์ การเป็นหัวหน้างาน การบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้านจัดสรร และธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งบูรณาการร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบขนส่งโลจิสติกส์ ป้อนสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคม และสถานประกอบกิจการที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) จากความร่วมมือส่งผลให้ผู้ที่ผ่านการฝึกมีงานทำทุกคน นอกจากนี้ยังฝึกอบรมสาขาการท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานสูง เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย ตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก สาขาการบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม และภาษาต่างประเทศ หลักสูตรด้านช่าง การประยุกต์ใช้งาน PLC ในงานอุตสาหกรรม ช่างควบคุมหุ่นยนต์ การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ 2 มิติ เทคนิคการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อ กพร.ดำเนินการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะให้แล้ว จะส่งรายชื่อผู้ผ่านการอบรมให้กับกรมการจัดหางาน เพื่อจับคู่งานให้กับผู้แจ้งความประสงค ให้จัดหางานให้ทำด้วย
นายสุทธิ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 62 กพร.มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผู้ที่จบปริญญาตรีจะให้ความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากผู้จบการศึกษาใหม่ในปัจจุบันเป็นกลุ่ม Gen Z มีความสนใจประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ตลอดจนผู้บริโภคเองมีความต้องการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์สูงขึ้นส่วนสาขาที่ตลาดมีความต้องการรับคนเข้าทำงาน เช่น สาขาการบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้านจัดสรร ได้วางแผนดำเนินการอีก 400 คน สาขาด้านโลจิสติกส์ มีแผนดำเนินการอีก 300 คน โดยบูรณาการร่วมกับ รวมถึงสาขาที่เป็นกลุ่มทักษะด้านช่าง จะยังคงดำเนินการตามความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป และยังมีอีกหลายสาขาที่ดำเนินการฝึก
" ผู้ที่จบปริญญาตรี สามารถเข้าฝึกได้ทุกสาขา ที่ กพร. เปิดการฝึกอบรม และสมัครฝึกอบรมได้ทั่วประเทศ และยังมีแผนบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏอีสานเหนือรวม 12 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการผลิตด้วย การเพิ่มเติมทักษะและองค์ความรู้ จะทำให้มีโอกาสมีงานทำมากขึ้น นายจ้างจะพอใจที่ได้คนเก่ง นักศึกษาก็จะแฮปปี้ ที่มีงานทำ" นายสุทธิ กล่าว