กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอย่างถูกวิธี โดยประเมินสถานการณ์จากสภาพแวดล้อมและสภาพการจราจรของจุดเกิดเหตุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางเพิ่มความระมัดระวัง โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียเลือดมาก หากไม่มีทักษะการช่วยเหลือ ควรรอให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือและนำส่งสถานพยาบาล จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิต
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็น สาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกวิธี จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยบ่อยครั้งที่ผู้เข้าช่วยเหลือได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุซ้ำซ้อน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอย่างถูกวิธี ดังนี้ ประเมินสถานการณ์ จากสภาพแวดล้อมและสภาพการจราจรของจุดเกิดเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนหรือทัศนวิสัยไม่ดี ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางเพิ่มความระมัดระวัง โดยเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินของรถคันที่เกิดเหตุ นำกิ่งไม้ ป้ายสามเหลี่ยม หรือกรวยสะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถห่างจากจุดเกิดเหตุในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมให้ข้อมูลจุดเกิดเหตุ จำนวนและอาการของผู้บาดเจ็บ เพื่อเจ้าหน้าที่ จะได้วางแผนให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างถูกต้อง ช่วยเหลือผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นและเสียเลือดมาก กรณีผู้ประสบเหตุบาดเจ็บเล็กน้อยให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ หากไม่มีทักษะการช่วยเหลือ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง ควรรอให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินมาช่วยเหลือ และนำส่งสถานพยาบาล จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงที่ทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยง ต่อการได้รับอันตราย และทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย จึงช่วยลดอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต จากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี