กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายกรัฐมนตรี - ครม. เยี่ยมชมกิจกรรมรณรงค์ "วัฒนธรรมไทยเพื่อคนทั้งมวล" ชมหนังสือ "ประมวลเหตุการณ์ ปฏิบัติการถ้ำหลวง : บันทึกวาระแห่งโลก" ฉบับอักษรเบรลล์ ปรับปรุงอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมรองรับอารยสถาปัตย์ หนุนเด็กพิการทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์และทัศนศิลป์
วันที่ 4 ธ.ค.2561 ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ร่วมชมกิจกรรมรณรงค์ "วัฒนธรรมไทยเพื่อคนทั้งมวล" เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล 3 ธันวาคม 2561 โดยได้นำชมหนังสือ "ประมวลเหตุการณ์ ปฏิบัติการถ้ำหลวง : บันทึกวาระแห่งโลก" ฉบับอักษรเบรลล์ ภาพตัวอย่างการปรับปรุงอาคารแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของวธ. เพื่อรองรับอารยสถาปัตย์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ตัวอย่างรถพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่และชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของเด็กผู้พิการที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.)
นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมของรัฐบาล โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุให้เข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของวธ. รวมทั้งได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์และทัศนศิลป์ และนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่อง "เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เพื่อตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดังนั้น วธ. จึงได้ขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด "วัฒนธรรมไทยเพื่อคนทั้งมวล" โดยดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ 1.การจัดทำหนังสือประมวลเหตุการณ์ ปฏิบัติการถ้ำหลวง : บันทึกวาระแห่งโลก ฉบับอักษรเบรลล์ ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นบันทึกองค์ความรู้และเผยแพร่บทเรียนปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ณ ถ้ำหลวงไปสู่กลุ่มผู้พิการทางสายตาให้ได้เรียนรู้ และตระหนักในเรื่องความมีวินัย น้ำใจไมตรี มีจิตอาสา ภาวะผู้นำ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ดีให้แก่สังคมช่วยสร้างคนดีและสังคมดี ทั้งนี้ วธ.จะแจกจ่ายหนังสือเล่มนี้ไปยังสถานศึกษา ห้องสมุด มูลนิธิและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของผู้พิการทางสายตาที่มีกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า 2.วธ.ได้ปรับปรุงอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของวธ. ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อรองรับอารยสถาปัตย์ โดยจัดให้มีที่จอดรถ ทางลาด ทางเท้าผู้พิการ ลิฟต์ ห้องน้ำผู้พิการ รวมถึงหนังสือสำหรับผู้พิการ ได้แก่ หนังสืออักษรเบรลล์และหนังสือเสียง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม โดยในปี 2561 มีศาสนสถานและแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของวธ.ที่ได้รับคัดเลือกเป็นอารยสถาปัตย์แห่งปี (Friendly Design) ได้แก่ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กทม.,วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ จ.นนทบุรี ,วัดสระพัง จ.เพชรบุรี ,วัดนักบุญโทมัสอัครสาวก กทม.,คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา (วัดซิกข์) สำนักหอสมุดแห่งชาติ กทม. ,พิพิธภัณฑ์มรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี ,พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ ,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กทม.และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
และ 3.วธ.ได้ส่งเสริมเด็กพิการให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์และทัศนศิลป์ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและการยอมรับจากสังคม โดยให้ สบศ. จัดทำหลักสูตรและอบรมด้านนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์และทัศนศิลป์ให้แก่เด็กผู้พิการประเภทต่างๆ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่ และจะขยายผลโครงการไปสู่ทุกภูมิภาค อีกทั้งคัดเลือกเด็กพิการที่เข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะเป็นเลิศด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในวิทยาลัยนาฏศิลป์สังกัด สบศ. ทั้งนี้ พบว่าเด็กพิการที่เรียนจบปริญญาตรีมีงานทำและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี