กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดย นรีรัตน์ สันธยาติ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
UN SSE Global Dialogue 2018
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา UN Sustainable Stock Exchanges (SSE) Initiative จัดการประชุม UN SSE Global Dialogue 2018 เป็นส่วนหนึ่งของงาน UNCTAD World Investment Forum ซึ่งเป็น เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างผู้นำตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนทั่วโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สะท้อนถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีโลกที่ทุกภาคส่วนกำลังผนึกพลัง ร่วมกันขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals: SDGs)
การประชุม SSE Global Dialogue ครั้งนี้ มีผู้นำจากตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลในภาค ตลาดทุนทั่วโลกมาแชร์มุมมองและประสบการณ์ร่วมกัน โดยมีประเด็นสำคัญที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ควรทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทจดทะเบียน ในเรื่องการส่งเสริมให้ผู้ลงทุน มีทางเลือกในการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความอยู่ดีกินดีของคนในสังคม และช่วยลดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดเป็นการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
นายพอล แอนดรูว์ เลขาธิการ IOSCO หรือ International Organization of Securities Commissions ซึ่งเป็นองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้กล่าว ปาฐกถาพิเศษโดยเน้นย้ำว่า ภาคตลาดทุนต้องรวมกลุ่มกันผ่านองค์กรเครือข่ายเพื่อส่งเสริมเรื่อง การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมถึงควรพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลและผู้มีส่วนได้เสีย ในตลาดทุนแต่ละประเทศควรมีบทบาทอย่างจริงจังในการยกระดับคุณภาพของการเปิดเผย ข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง
นายทิม โมฮิน CEO ของ Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งเป็น องค์กรอิสระที่พัฒนา GRI Standards มาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ มุ่งให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ธุรกิจ SMEs ซึ่งคิดเป็น 90% ของจำนวนธุรกิจทั่วโลก ยังต้องการให้มีคู่มือฉบับง่ายสำหรับการรายงานความยั่งยืนในภาคธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนมีแนวโน้มจะปรับไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้ใช้ข้อมูลในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในการประชุมยังได้มีการมอบรางวัล "United Nations Sustainable Stock Exchanges Market Transparency Award" ให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างโดดเด่นมากที่สุด
ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับการจัดอันดับ ด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ของบริษัทจดทะเบียนเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และเป็นอันดับ 7 จากตลาดหลักทรัพย์ 35 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังเป็น ตลาดหลักทรัพย์เอเชียเพียงแห่งเดียวที่สามารถ ติดอันดับ Top 10 ของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก นับเป็นรางวัลที่สะท้อนพัฒนาการในการเปิดเผย ข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย อย่างต่อเนื่องจนที่ประจักษ์ในเวทีโลก
จากข้อมูลรายงาน SSE 2018 Report on Progress พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีบทบาทในการ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ การออก green bond เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2016 มีการอบรม ให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุน ในเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 65% และมี การออกคู่มือและจัดกิจกรรมส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นถึง 85%
สำหรับในฝั่งของผู้ลงทุนสถาบัน AVIVA ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ยักษ์ของโลกที่ให้บริการแก่ลูกค้า 33 ล้านคน และเป็นผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ที่บริหารพอร์ตการลงทุนในระยะยาว เปิดเผยว่า ผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน (Investment Consultant) เริ่มตั้งคำถามด้าน ESG อย่างจริงจังกับผู้จัดการกองทุน โดย ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นลูกค้าของ AVIVA มีข้อคำถามด้าน ESG เพิ่มมากขึ้นถึง 120% แสดงให้เห็นถึงความสนใจ อย่างจริงจังของผู้ลงทุนที่พิจารณาเรื่อง ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับที่ MSCI แชร์ว่า ผู้ลงทุนบุคคลแสดงความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESG ของธุรกิจกันมากขึ้น สะท้อนได้จากคำถาม ด้าน ESG ที่มีเข้ามาจากเดือนละ 3 คำถามกลายเป็นวันละ 10 คำถาม
UNCTAD World Investment Forum
ในงาน UNCTAD World Investment Forum ประจำปีนี้ได้กำหนดให้เรื่อง "Investing in Sustainable Development" เป็นธีมหลักในปีนี้ โดยมีการอภิปรายเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าจะเป็น "ทางรอด" ให้กับภาคธุรกิจในระยะยาว
ในงานนี้ผู้นำจากหลายประเทศได้แสดงถึงศักยภาพที่พร้อมอ้าแขนต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ซึ่งยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมากท่ามกลางการผันเปลี่ยนสู่ยุค Green Economy
หลายฝ่ายมองว่า Green Bond จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนา ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยอาจมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) ที่ใช้การออก Green Bond ในการร่วมลงทุนและเดินหน้าโครงการระดับเมกะโปรเจคต์ คาดการณ์กันว่าอาจมีการออก Bond ที่ช่วยสนับสนุน SDGs คิดเป็นมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีประเด็นท้าทาย เรื่องความโปร่งใสของข้อมูลเกี่ยวกับ Green Bond ที่ผู้ออก Green Bond ควรให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและกำหนด ตัวชี้วัดที่ชัดเจนขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์และประเมินการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงแนวคิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain ในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น การนำ Blockchain เข้าไปช่วยในการระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงติดตาม ตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินบริจาคเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการมี ความโปร่งใสและสามารถนำเงินบริจาคไปสร้างให้เกิดผลลัพธ์ทางบวก ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เทคโนโลยี Blockchain ยังช่วยลดตัวกลาง ในระบบการจัดซื้อจัดหาในภาคการเกษตรทำให้สามารถลดต้นทุนและ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยี Blockchain ยังเข้ามามีบทบาทใน กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับทำให้สามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ อย่างโปร่งใสและนำไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น