กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--หอการค้าไทย
สถานการณ์การท่องเที่ยวไทย
* ภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็น 10% ของ GDP โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนปีละ 3 ล้านล้านบาท ในขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนปีละ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีคนไทย 15 ล้านคนถูกจ้างงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
* ในปี 2561 หอการค้าไทยหวังว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียจะฟื้นตัวในช่วง High Season ของปี 2561 ต่อเนื่องไปถึงปี 2562 โดยคาดว่าในปี 2561 ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 37-38 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5-7% และในปี 2562 หอการค้าไทยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 39-40 ล้านคน คิดเป็น 3-6%
* การท่องเที่ยวชุมชน เป็นสิ่งที่หอการค้าไทยต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างให้เกิดการกระจายรายได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยรักษาเอกลักษณ์ของของชุมชนท้องถิ่น ช่วยลดการย้ายถิ่น และช่วยสร้างความอบอุ่นในครอบครัว
สรุปผลการสัมมนากลุ่มย่อยที่ 3
ในการประชุมเชิงปฎิบัติการกลุ่มย่อยที่ 3 ได้กำหนดหัวข้อเรื่อง"Community Based Tourism ไทยเท่ ไทยเท่าเทียม ไทยยั่งยืน"เนื่องจาก หอการค้าไทยเห็นว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยสิ่งที่ที่ประชุมกลุ่มย่อยที่ 3 ได้นำเสนอ สามารถสรุปได้ดังนี้
1. เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมบทบาทการเป็นประธาน ASEAN ในปี 2562 โดยเน้นการท่องเที่ยวใน Segment เฉพาะเป็นพิเศษ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชน
2. สนับสนุนโครงการ Big Rock โดยเฉพาะโครงการทัวร์ริมโขง และโครงการไทยแลนด์ริเวียร์ร่า และเสนอให้เชื่อมโยงโครงการไทยแลนด์ริเวียร์ร่าทั้ง 3 ภาค (ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้) 12 จังหวัด เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งจัดทำ Master Plan เพื่อดึงศักยภาพของชุมชนบริเวณโดยรอบในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม
3. สร้างต้นแบบท่องเที่ยวชุมชน ผ่านแนวคิด 5A (มีจุดขาย เข้าถึงสะดวก มีกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีบุคลากรในการบริหารจัดการ) โดยสร้างการรับรู้และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ยั่งยืน
4. พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสร้างมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และจูงใจให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่นานขึ้น
5. ปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยว
ตามข้อเสนอดังกล่าว หอการค้าไทยจะประสานงานและร่วมมือผลักดันแผนงาน/โครงการดังกล่าวโดย ความร่วมมือกับส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันการศึกษาในพื้นที่