กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--มายด์ พีอาร์
นาทีนี้ เราคงปฏิเสธความแรงของกีฬาอิเล็กทรอนิกส์หน้าใหม่อย่าง eSports ไม่ได้อีกแล้ว ทั้งจากธุรกิจเกมที่มูลค่าหลายพันล้านบาทโดยยังไม่มีท่าทีชะลอตัว จำนวนผู้เล่นหลายล้านราย การเติบโตและกำเนิดเกมใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ เหนืออื่นใดคือข้อถกเถียงที่ว่า อีสปอร์ตนั้นเป็นกีฬาจริงๆ หรือไม่ เมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ยังไม่รับรองว่าอีสปอร์ตสเป็นกีฬาประเภทหนึ่งเช่นกัน จนส่งผลให้สมาคมไทยอีสปอร์ตไม่สามารถส่งนักกีฬาไทยเข้าแข่งขันใน Ashgabat 2017 ที่ผ่านมา
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและจัดประเภทของอีสปอร์ตว่าเป็นกีฬามาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีตัวนักกีฬาหรือผู้เล่นลงแข่งขันในเกม รวมถึงอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเมาส์ หูฟัง คีย์บอร์ด และคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ความนิยมของกีฬาประเภทนี้ก่อให้เกิดรายการแข่งขันจำนวนมหาศาลภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง E-Sports world championship ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยสหพันธ์อีสปอร์ตนานาชาติ หรือ International Esports Federation (IESF) จากประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงอีกหนึ่งรายการใหญ่อย่าง Special Force World Championship ที่มาพร้อมกับเงินรางวัลหลายหมื่นบาท
ปัจจัยที่ทำให้อีสปอร์ตได้รับความนิยมอาจเป็นเพราะ รูปแบบการเล่นที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหลายๆ คนได้ลงเล่นและร่วมวางแผนพร้อมกันได้ อาทิ DotA ซึ่งเป็นเกมที่ผู้เล่นหลายคนสามารถวางแผน ออกแบบแผนการเล่นไปพร้อมๆ กันได้ หรือเกมยิงปืนที่มองผ่านมุมมองบุคคลหนึ่งอย่าง Counter-Strike: Global Offensive ที่ผู้เล่นรับบทเป็นตัวละครถือปืน โดยมุมกล้องจะอยู่ในระดับสายตาของผู้เล่นที่นั่งอยู่หน้าจอ หรือเกมวางแผนการรบสุดเดือดใน StarCraft II: Wings of Liberty และโดยเฉพาะ League of Legends เกมวางแผนรบที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปหากนับชั่วโมงการเล่น จากสถิติในปี 2014 มีผู้เล่นเกมนี้ถึง 67 ล้านคนต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะมันคือเกมวางแผนการต่อสู้ที่ซับซ้อน ละเอียดและสนุกมากที่สุดเกมหนึ่ง
ความนิยมเหล่านี้ก่อให้เกิดธุรกิจและการหมุนเวียนเงินขึ้นมาในกีฬาอีสปอร์ตเช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่นๆ ทั้งการผลิตเกมและการปั้นนักกีฬาหรือผู้เล่นซึ่งจำเป็นต้องทุ่มเทให้กับการฝึก
ในประเทศสหรัฐอเมริกากระบะทรายในกีฬาอีสปอร์ต (Sandbox) แฮปปี้ วอลเตอร์ส จากบริษัท Catalyst Sports & Media และแชด ฟอลค์เนอร์จาก Sports Academy คิดว่าเหล่านักกีฬาอีสปอร์ตจำเป็นต้องมีสถานที่ฝึกซ้อมเช่นเดียวกับนักกีฬาบาสเกตบอล ฟุตบอลและกีฬาชนิดอื่นๆ เพื่อฝึกฝนลับคมทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะไหวพริบในการอ่านเกม การเข้าใจทิศทางของผู้เล่นอื่นๆ เมื่อต้องเผชิญหน้ากัน และความแข็งแรงของข้อมือ นิ้วมือและร่างกายส่วนอื่นๆ ดังนั้น เหล่านักกีฬาอาชีพ นอกจากจะต้องฝึกฝนเล่นเกมแล้วยังต้องออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้หลอดเลือดและหัวใจ รวมทั้งกินอาหารที่มีประโยชน์และถูกหลักอนามัย
ด้วยเป้าหมายอยากจะพัฒนาทักษะและหาพื้นที่สำหรับฝึกซ้อมให้นักกีฬา วอลเตอร์สและฟอลค์เนอร์จึงประกาศสร้างพื้นที่ Sandbox Esports Training Center หรือลานสำหรับฝึกซ้อมจำนวน 2,000 ตารางฟุตภายในศูนย์ฝึกกีฬาอีสปอร์ตของสถาบัน Sports Academy ที่แคลิฟอร์เนีย พร้อมเงินทุนกว่า 100,000 เหรียญ โดยฟอลค์เนอร์กล่าวว่าพื้นที่เหล่านี้นั้น "สร้างขึ้นตามความต้องการและการใช้งานจริงของเหล่านักกีฬาทั้งสิ้น"
ทั้งนี้ OPEN-TEC ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "เฟรม - ณัฐพัชร์ โพธิเก่งฤทธิ์" System Engineer บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ซึ่งเขาคือ 1 ในสมาชิกทีม Ozone.[Victory]-Hybridman แชมป์รายการ Point Blank International Championship 2016 หรือ PBIC2016 ด้วยการชนะนักกีฬาอีสปอร์ตระดับโลกถึง 13 ทีม จาก 12 ประเทศทั่วโลก โดย System Engineer คนเก่งจาก TCCtech ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่ม "sandbox คือเทคโนโลยีที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในแวดวงกีฬาอีสปอร์ต เป็นโปรแกรมที่จำลองให้ผู้เล่นได้เล่นกับผู้พัฒนาระบบเพื่อนำไปพัฒนาตัวโปรแกรมและเกมต่างๆ แต่ตัวผมเองยังไม่เคยได้ลองใช้ sandbox เพียงแต่ได้ยินมาบ้าง เข้าใจว่าถ้าได้ลองเล่น มันจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับระบบต่างๆ ว่าควรปรับปรุงตรงไหน แก้ไขอะไรในเกม ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในแง่ที่อาจทำให้เรารู้ความต้องการของนักกีฬาได้โดยการทดลองกับระบบก่อนหน้าไปลงแข่งจริงๆ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้อยู่ที่ว่าผู้พัฒนาเกมจะนำ sandbox เข้ามาด้วยหรือเปล่า"
บรรยายภาพ
ณัฐพัชร์ โพธิเก่งฤทธิ์ (เฟรม)