กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3.3-4% กรณีไม่เกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยและได้รัฐบาลจากพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทน พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีชัยชนะเด็ดขาดและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
หากเกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยและได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช และมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน จีดีพีอาจต่ำกว่า 3% รัฐบาลอาจมีอายุสั้น
หากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงจากการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการเช่นเหตุการณ์พฤษภาคม 35 จบลงด้วยการทำรัฐประหารซ้ำ เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 2% และ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยประเทศจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยอีกรอบหนึ่ง
หากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3-4%
10.30 น. 6 ธ.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2562 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าในปีหน้าคาดว่าจะชะลอตัวลงค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีแรกโดยจะกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ระดับ –3.6-3.7% คาดว่าปริมาณการค้าโลกเติบโตได้ที่ 3.8% การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 เกิดจากภาวะเงินที่ตึงตัวขึ้นจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจาก Brexit และการแยกตัวออกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ความตึงเครียดและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังคงได้รับการสนับสนุนจากภาคการบริโภคภายใน ตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 3.0 - 3.25% ในปีหน้าและคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ที่ 2.4 – 2.5%
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรีพับรีกันอาจออกมาน้อยลงหลังพรรคแดโมแครตขึ้นมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร มีความเสี่ยงที่สภาครองเกรสอาจไม่สามารถตกลงกับฝ่ายบริหารได้ตามกำหนดเวลาจนนำไปสู่การปิดที่ทำการของหน่วยงานรัฐ (Government Shutdown) ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคแดโมแครตส่วนใหญ่ยังคงมีท่าทีไม่สนับสนุนการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างสุดโต่ง ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดและสงครามทางการค้าเบาลง
ส่วนเศรษฐกิจยุโรปนั้นยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้นชะลอตัวลงบ้างแต่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวได้ประมาณ 1.9% และ ธนาคารกลางยุโรปน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจยูโรโซน คือ ปัญหาหนี้สาธารณะของบางประเทศโดยเฉพาะอิตาลีที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 132% และผลกระทบของ Brexit
ทางด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น ภาคส่งออกญี่ปุ่นจะได้รับผลบวกจากข้อตกลงทางการค้า CPTPP และ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรป (Japan-EU EPA) ซึ่งญี่ปุ่นจะได้การลดภาษีสินค้าต่างๆกว่า 99% ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำสวนทางกับนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐฯและยุโรป ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินยูโร นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่นนี้อาจดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 2020 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ 0.9% ในปีหน้า
ทางด้านเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงจากการปรับโครงสร้างภายใน ลดหนี้ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจและผลกระทบจากสงครามทางการค้า เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตที่ระดับ 6.2%
ส่วนเศรษฐกิจประชาคมเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดี ท่ามกลางความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน CLMV จะเติบโตได้ 6 - 7% ในปี พ.ศ.2562 โดยค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มประเทศ CLMV ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต แถลงถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2562 ว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นจากโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม มีอำนาจผูกขาดสูง ความเหลื่อมล้ำสูง เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอด้วยรายได้ไม่เพียงพอและก่อหนี้สูง ปัจจัยความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยก้าวจาก "ระบอบรัฐประหาร" สู่ "ระบอบกึ่งประชาธิปไตย" และ จัดให้มีการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุน มากกว่า ระบอบรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวขึ้นของภาคการบริโภคและภาคการลงทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา บวกเข้ากับแรงส่งจากภาคการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับ 3.3-4% เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วไม่มากนัก สังคมไทยเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยในปีหน้าโดยคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ 1.2-1.7% โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของภาคการบริโภคโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 3.3% อัตราการเติบโตของภาคการลงทุนโดยรวมอยู่ที่ 4.5-5.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 5.5% อัตราการขยายตัวของการนำเข้าอยู่ที่ 6.5% ทำให้ประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้าที่ระดับ 26-32 พันล้านดอลลาร์และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีอยู่ที่ 6.5%
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1% สภาวะการทำงานต่ำระดับมากขึ้นเราจะเห็นคนจบปริญญาตรีทำงานที่อาศัยความรู้และทักษะระดับ ม. ปลาย เห็นคนจบ ป. โท ทำงานที่อาศัยความรู้และทักษะระดับ ป. ตรี เนื่องจากมีคนจำนวนมากไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้จึงทำงานต่ำระดับเพื่อไม่ให้ว่างงาน นอกจากนี้เทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะได้ทำหน้าที่แทนแรงงานคนมากขึ้น
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองและเงินทุนระยะสั้นไหลออกจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในบางช่วง
ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจต่อไปในปีหน้า และ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจะยังมีความไม่แน่นอนต่อไปจนกว่าสังคมไทยจะสามารถสถาปนาความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยได้ ปัญหาการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking) เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในรัฐบาล ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า เมื่อสมมติให้ตัวแปรหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆคงที่ ใช้สมมติฐานชุดเดียวกันและเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวแปรปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง สามารถพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า สามารถขยายตัวได้ในระดับ 3.3-4% กรณีไม่เกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยและได้รัฐบาลจากพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทน พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีชัยชนะเด็ดขาดและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและสร้างกลไกความเข้มแข็งของรัฐบาล ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจ การทำลายระบบสถาบันพรรคการเมือง (กรณีแรก)
หากเกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยและได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช และมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน คาดการณ์เบื้องต้นได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีอาจต่ำกว่า 3% (กรณีที่สอง)
หากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงจากการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการเช่นเหตุการณ์พฤษภาคม 35 จบลงด้วยการทำรัฐประหารซ้ำ พยากรณ์เบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 2% และ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยประเทศจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยอีกรอบหนึ่ง (กรณีที่สาม)
หากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลจัดการเลือกตั้งใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีขึ้น อัตราการขยายทางเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 3-4% (กรณีที่สี่)
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงก็ชี้ชัดว่า กลุ่มคนเพียง 6 ตระกูลถือครองความมั่งคั่งเท่ากับคนเกือบ 50 ล้านคนและครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งระบบ การกระจายรายได้และความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมที่มีการผูกขาด รวมทั้งความผิดพลาดทางนโยบายของหลายรัฐบาล ตลอดจนความไม่สามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวในระดับ 5-6% และต้องกระจายรายได้และความมั่งคั่งมายังคนส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 3-4% ภายใต้โครงสร้างแบบเดิมนี้เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้และยังจะทำให้การกระจายรายได้แย่ลงอีกด้วย เพราะผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นจะไปกระจุกตัวอยู่ในมือของเจ้าของทุน คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น คนจนจะไม่ดีขึ้นนัก แต่คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นคนยากจน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโดยทั่วไปหากไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น คาดว่าสภาวะ "รวยกระจุก จนกระจาย" จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ลดการผูกขาด และการเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นให้ประชาชน
รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องแก้ปัญหาจริยวิบัติ (Moral Hazard) ความล้มเหลวของกลไกตลาดอันนำมาสู่อำนาจผูกขาด ขณะเดียวกันต้องกำกับดูแลการทุจริตรั่วไหลและความไม่มีประสิทธิภาพจากกลไกภาครัฐ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวถึง ทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมในปี 2562 ว่า ทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมไทยจะต้องปรับตัวและเตรียมรับมือจากผลกระทบจาก Disruptive Technology เพิ่มขึ้น ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ Global Supply Chain แบ่งออกเป็น US Global Supply Chain และ China Global Supply Chain ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจก็เคลื่อนตัวสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)มากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) มากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังภาวการณ์ลงทุนและขยายตัวเกินพอดีนำมาสู่ภาวะอุปทานส่วนเกินและปัญหาฟองสบู่ โดยธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงในปี 2019 ได้แก่ 1. ธุรกิจ E-Commerce 2. ธุรกิจอุตสาหกรรมขนส่งและโลจีสติกส์ 3. ธุรกิจอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 4. ธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล 5. ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง 6. ธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ 7. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 8. ธุรกิจ FinTech หรือธุรกิจบริการการเงินด้วยเทคโนโลยี 9. ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 10. ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ อาหารสำเร็จรูป 11. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ EEC 12.ธุรกิจปิโตรเคมีและพลาสติก ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 2. อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 3. อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ธุรกิจอุตสาหรรมที่มีอัตราการเติบโตต่ำ ความเสี่ยงสูงและจะมีเลิกจ้างพนักงาน ได้แก่ 1. ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายหรือการให้เช่า CD DVD 3. ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน 4. สถานศึกษาเอกชน 5. ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม 6. ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 7. ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ 8. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง เป็นต้น