กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดือนธันวาคม 2561 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,211 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 3 - 6 ธันวาคม 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฏร หลังจากการประกาศปฏิทินการเลือกตั้ง คาดว่าวันที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ความตื่นตัวทางการเมืองของพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติแบบใด ที่ประชาชนคาดหวัง และการตัดสินใจจะเลือกผู้สมัครแบบใด การสังกัดพรรคการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ และคิดว่าผู้ใดที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ความคิดเห็นของประชาชนต่อความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดือนธันวาคม 2561 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส มากที่สุด ร้อยละ 41.2 อันดับที่สองคือ มีความเสียสละทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 19.3อันดับที่สามคือ มีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 13.0 อันดับที่สี่คือ มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 11.2 อันดับที่ห้าคือ มีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 11.6 และหากต้องไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจะตัดสินใจเลือกบุคคลประเภท ผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 48.3 อันดับที่สองคือ ผู้ที่มีความเสียสละเพื่อสังคม ทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 18.4 อันดับที่สามคือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่และทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 12.8 อันดับที่สี่คือ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติการศึกษาและการทำงานอย่างมากมาย ร้อยละ 11.1 อันดับที่ห้าคือ ผู้ที่เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ร้อยละ 4.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ มากที่สุด ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 17.9 อันดับที่สามคือ ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 15.3 อันดับที่สี่คือ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 12.8 อันดับที่ห้าคือ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 7.2 และปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ตัวผู้สมัคร ร้อยละ 51.5 และพรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 48.5
หากมีการเลือกตั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มากที่สุด ร้อยละ 32.7อันดับที่สองคือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 28.7 อันดับที่สามคือ พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 8.9 อันดับที่สี่คือ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 8.3 อันดับที่ห้าคือ พรรคไทยรักษาชาติ ร้อยละ 5.6 และคิดว่าบุคคลที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 29.6 อันดับที่สองคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร ร้อยละ 17.9 อันดับที่สามคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 10.6 อันดับที่ห้าคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 10.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร มีหน้าที่ทำอะไร ร้อยละ 53.0 รองลงมาคือไม่ทราบ ร้อยละ 27.7 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.2 และคิดว่าจะไปเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ร้อยละ 52.5 รองลงมาคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.6 และไม่ไป ร้อยละ 18.9