กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เปิดตัวเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการของ วว. ใน 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตรตามหลัก GAP ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ระบบขนส่งทางราง และการบริการท่องเที่ยว พร้อมลงนามความร่วมมือด้านการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและพันธมิตร หวังสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ของประเทศ รองรับการเปิดเสรีทางการค้า สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 มุ่งสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) ให้มีจำนวนที่เพียงพอได้มาตรฐาน โดยจัดทำระบบให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ ที่เรียกว่า MOST One Stop Service ซึ่งระบบจะให้บริการแบบครบวงจรด้านการทดสอบและสอบเทียบ เป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ในกระทรวงให้เป็นระบบ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน สินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตขึ้นเพื่อการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ หรือเพื่อการส่งออกนั้น จำเป็นต้องได้คุณภาพ ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้การส่งออกเป็นไปได้อย่างราบรื่น
"...การจัดงานเปิดตัวเครื่องหมายการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการของ วว. ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของผู้ประกอบการภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ผ่านการรับรองมาตรฐาน อันจะส่งผลระยะยาวทั้งต่อการพัฒนา ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของไทยได้อย่างยั่งยืน..." รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวสรุป
ในโอกาสนี้ ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ ได้มอบโล่ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการจาก วว. จำนวน 6 ราย จากจำนวนที่ผ่านการรับรองทั้งหมด 18 ราย คือ 1.การรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรตามหลัก GAP (ลำปาง 2 ราย สระบุรี 1 ราย) 2.การรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (นครปฐม 3 ราย อุบลราชธานี 9 ราย) 3.การรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว (เชียงใหม่/ลำพูน/นนทบุรี จังหวัดละ 1 ราย)
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการของ วว. มุ่งเน้นที่กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการใน 6 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตรตามหลัก GAP ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ระบบขนส่งทางราง และการบริการท่องเที่ยว อยู่ภายใต้การดำเนินโครงการการสร้างศักยภาพด้านการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์และบริการแบบครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสำนักรับรองระบบคุณภาพของ วว. ในการเป็นหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์และบริการ ที่มีระบบการทำงานตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065 ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศมีผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เป็นการรองรับการเปิดเสรีทางการค้า รวมทั้งลดผลกระทบที่อาจได้รับจากการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี ในการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว วว. ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรมการท่องเที่ยว องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
"...ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และภาคประชาชน ระบบการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ ที่เรียกว่า MSTQ ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวดหลัก ได้แก่ ระบบมาตรวิทยา (Metrology) การกำหนดมาตรฐาน (Standardization) การทดสอบ (Testing) และการประกันคุณภาพ (Quality Assurance) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเครื่องหมายการรับรองผลิตภัณฑ์และบริการของ วว. ที่เปิดตัวในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งภายในประเทศและในระดับสากล..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
อนึ่ง วว. โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ กลุ่มบริการอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ ในการเป็นหน่วยรับรองระบบคุณภาพ ที่มีระบบบริหารจัดการการทำงานสอดคล้องตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17021 และ ISO/TS 22003 ทำหน้าที่ให้บริการตรวจประเมินและรับรองระบบคุณภาพ ได้แก่ รับรองระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHASAS 18001) ระบบการจัดการสุขลักษณะพื้นฐานที่ดี (GMP) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยอาหาร (ISO 22000) เป็นต้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
ขอรับบริการจากสำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9371 , 0 2577 9373-4 , 089 900 5308 โทรสาร 0 2577 9372 www.tistr.or.th E-mail : tocb@tistr.or.th