กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50 - 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 - 14 ธ.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโอเปกปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับ แคนาดาเตรียมลดกำลังการผลิตในปีหน้าลง เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังภายในประเทศซึ่งอยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ยปกติ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง หลังอุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน จากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อผลสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบโลกยังคงล้นตลาดอยู่
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเตรียมลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างน้อย 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค. 61 เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยโอเปกจะลดกำลังการผลิตลง 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก รวมทั้งรัสเซียจะลดกำลังการผลิตลง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยการลดกำลังการผลิตครั้งนี้จะเริ่มมีผลในปี 2562 ซึ่งโอเปกและพันธมิตรจะทำการทบทวนกำลังการผลิตอีกครั้งในการประชุมในเดือนเมษายนปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดกังวลว่าการลดกำลังการผลิตดังกล่าวไม่สามารถที่จะต้านทานการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบโลกได้
- แคนาดาประกาศให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 8.7 หรือเท่ากับ 325,000 บาร์เรลต่อวัน จนกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังแคนาดาจะลดลง จากนั้น จะให้ผู้ผลิตลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่องราว 95,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน ธ.ค. 62 เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดิบแคนาดาต่ำ และท่อขนส่งน้ำมันดิบไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในประเทศอยู่ในระดับสูง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังใน Alberta ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 35 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณเฉลี่ยปกติ อย่างไรก็ตาม การลดกำลังการผลิตนี้จะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 เป็นต้นไป
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ประกอบกับ สหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 พ.ย. 61 ปรับลดลงราว 7.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า จะปรับเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนทำการตกลงในการประชุม G20 ณ ประเทศอาร์เจนตินา ว่าจะไม่เพิ่มภาษีนำเข้าเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน เพื่อให้สองประเทศเจรจาหาข้อสรุปของสงครามการค้าร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลของการเจรจาในช่วง 90 วันนี้ หลังสหรัฐฯ และจีนเตรียมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ หากการเจรจาระหว่างสองประเทศไม่บรรลุผล
- ราคาน้ำมันดิบคาดถูกกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสองผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียในเดือน พ.ย. 61 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 61 สู่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของรัสเซียปรับตัวลดลงจาก 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 61 สู่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 61
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน และดัชนีภาคการผลิตและการบริการยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 - 7 ธ.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 1.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าโอเปกจะพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ในการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 ธ.ค. 61 ประกอบกับ สหรัฐฯ และจีนทำการตกลงในการประชุม G20 ว่าจะหยุดการขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศชั่วคราว ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าปริมาณการค้าขายในตลาดอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจาก ค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ประกอบกับ ความกังวลของตลาดเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบโลก หลังกาตาร์ประกาศถอนตัวออกจากกลุ่มโอเปก