กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
เยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คว้ารางวัล The First Place Winner และ The Best Presentation Award ด้วยภารกิจการใช้ดาวเทียมขนาดเล็ก เก็บข้อมูลทางกายภาพของปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเพาะปลูกพืชที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตร ที่มีคุณภาพและปริมาณมากยิ่งขึ้น โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เตรียมส่งเยาวชนที่ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน CanSat ในระดับนานาชาติต่อไป
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) University Space Engineering Consortium (UNISEC Thailand) และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) จัดการแข่งขัน CanSat Thailand 2018 หรือการแข่งขันประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็กขนาดเท่ากระป๋องน้ำอัดลม ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้นำเสนอไอเดียเสริมสร้างประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิศวกรรมด้วยการออกแบบภารกิจและการประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 70 ทีมทั่วประเทศในรอบคัดเลือก จนเหลือเพียง 10 ทีมเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -10 ธันวาคม 2561 ณ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี และสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี"
ผลปรากฎว่า ทีม Agricultural Exploration Assistant Satellite (A.E.A. Sat) สมาชิกทีมคือ นายวิวรรษธร ฐิตสิริวิทย์ นายภวัต งามดีวิไลศักดิ์ และนายชยากร วงศ์บุญสิน จากโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยมี นายพชร ภูมิประเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้ามาได้ถึง 2 รางวัล คือ The First Place Winner และ The Best Presentation Award ด้วยผลงานดาวเทียมขนาดเล็กทำภารกิจเก็บข้อมูลทางกายภาพของปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเพาะปลูกพืชซึ่งมีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ผนวกกับปัจจัยด้านชีวภาพของพืชแต่ละชนิด และนำมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและปริมาณมากยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาหลักการทำงานของระบบเก็บข้อมูลและการสื่อสารทางไกลของแบบจำลองระบบดาวเทียม และภาคพื้นดิน รางวัล The Best Science Award เป็นของทีม YSP Cansat สมาชิกทีมคือ นางสาวอันนา แซ่เตีย นางสาวธิวาวรรณ บรรลือหาญ และนายศุภกานต์ มาทะวงษ์ จากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม โดยมี นางสาวสุภาพร สุดบนิด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยผลงานดาวเทียมขนาดเล็กทำภารกิจเก็บข้อมูลความเข้มข้นของสารในกลุ่ม สารประกอบอินทรีย์ระเหย (Volatile Oranic Compounds, VOCs) ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ, CO และ NO2 ในระดับชั้นความสูงต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพอากาศ โดยเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รางวัล The Best Technical Award เป็นของทีม Mini Space สมาชิกทีมคือ นายรวิน อัสสะบำรุงรัตน์ นายธิติพันธ์ โค้วธนพานิช และนายปณิธาน กุมผัน จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมีนายวาริน ภุมรินทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยผลงานดาวเทียมขนาดเล็กทำภารกิจ ตรวจสอบวัดศักยภาพความเหมาะสมในการปลูกพืชของพื้นที่ต่างๆ โดยติดตั้ง sensor เพื่อวัดปัจจัยที่มีผลในการสังเคราะห์แสงของพืช ได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ความเข้มของแสง และความชื้น และเก็บข้อมูลแบบ Real time ผ่านระบบ Wireless Communication
ผศ.ดร. รวิน ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "รู้สึกยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รางวัลเป็นเพียงแรงจูงใจ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำเร็จ แต่สิ่งที่เยาวชนทุกคนรวมถึงครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้มากกว่านั้น คือ มิตรภาพ ประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือปฎิบัติจริง ในอนาคตเราคาดหวังว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะโตไปเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยการนำความรู้ด้านการบินและอวกาศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ต่อไป"