กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--บี.กริม เพาเวอร์
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่วมลงนามสัญญาและแถลงข่าวความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ "กรีนบอนด์" มูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) โดยมี นายไมเคิล แบร์โรว์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Lecture ชั้น Lower Lobby โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
นางปรียนาถฯ ได้เปิดเผยว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีประสบการณ์อย่างยาวนานในอุตสาหกรรมพลังงาน และถือได้ว่าเป็นผู้นำในภาคเอกชนรายหนึ่งของประเทศและในระดับภูมิภาค ทั้งยังตระหนักดีถึงการมีส่วนร่วมต่อประชาคมโลก ที่จะร่วมส่งเสริมดูแลสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพัฒนาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรไม่ว่าในด้านการลดมลภาวะหรือใช้พลังงานสะอาด จึงได้ริเริ่มออกหุ้นกู้กรีนบอนด์ มูลค่า 5 พันล้านบาท (155 ล้านเหรียญสหรัฐ) ประกอบด้วยในหุ้นกู้อายุ 5 ปีและอายุ 7 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกของหุ้นกู้ "กรีนบอนด์" ที่ได้รับการรับรองโดย Climate Bonds Initiative จะออกในประเทศไทย ทั้งนี้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเอดีบี ถือเป็นสิ่งสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่จะช่วยสะท้อนความเชื่อมั่น ตลอดจนสร้างความมั่นใจได้ว่า หุ้นกู้ฯ ดังกล่าวมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล สอดคล้องกับมาตรฐานเกณฑ์การออกพันธบัตรอาเซียนกรีนบอนด์ (ASEAN Green Bond Standards) ที่จะใช้เกณฑ์เดียวกันทั่วภูมิภาคอาเซียน ของสมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ (International Capital Market Association: ICMA) ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์อันยาวนานที่เราได้ทำขึ้นจากการทำธุรกรรมหลายอย่างต่อกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ระหว่าง บี.กริม และ เอดีบี
นอกจากนี้ นางปรียนาถฯ ยังกล่าวว่า ปัจจุบัน BGRIM มีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 15 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 15 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,045 เมกะวัตต์ และมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาอีกกว่า 1,081 เมกะวัตต์ รวมเป็นจำนวนกำลังการผลิตติดตั้ง ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วขณะนี้ 3,126 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จากการออกหุ้นกู้ "กรีนบอนด์" ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด จาก 10% เป็น 30% ให้สำเร็จภายในปี 2564
ด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) นายไมเคิล แบร์โรว์ ได้เปิดเผยว่า การออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสีเขียว(กรีนบอนด์) ในประเทศไทย ที่สำคัญเงินทุนที่ได้จะนำมาใช้สำหรับโครงการพลังงานทดแทนในประเทศไทย ยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างวิถีสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และยังจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ 20% ได้โดยไร้ข้อจำกัดของเงื่อนไข ภายในปี 2573 ทั้งนี้ บี.กริม นับเป็นผู้บุกเบิกด้านธุรกิจพลังงานทดแทนและการเติบโตของสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ที่มีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้ และเอดีบีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรระยะยาวในการดำเนินการดังกล่าว โดยเงินทุนที่ได้จากหุ้นกู้ กรีนบอนด์ นี้จะใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินการแล้วจำนวน 9 แห่งที่มีกำลังการผลิต 67.7 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 แห่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศไทยมีกำลังการผลิตรวม 30.8 เมกะวัตต์
นายไมเคิลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นี่คือการลงทุนพันธบัตรสีเขียว (กรีนบอนด์) ครั้งที่สองของ เอดีบี โดยในปีพ.ศ. 2559 ธนาคาร ได้สนับสนุนโครงการ พลังงานความร้อนใต้พิภพ Tiwi และ Makban ในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นโครงการเสนอขายพันธบัตรสีเขียวครั้งแรกของประเทศ และสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ครั้งนี้เป็นการติดต่อทางธุรกิจครั้งที่สามระหว่าง เอดีบี และ บี.กริม เพาเวอร์ โดยในปี 2560 เอดีบีซื้อหุ้นสามัญ IPO ของ บี.กริม เพาเวอร์ และเมื่อต้นปีนี้ เอดีบี ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เพื่อสนับสนุนการขยายสู่ตลาดพลังงานทดแทนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ บี.กริม
ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2536 และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 2,045 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 15 แห่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายไปสู่พลังงานหมุนเวียนโดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 15 แห่ง จากความสำเร็จนี้พร้อมทั้งศักยภาพในการขยายตัวในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) บี. กริม มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจาก 10% เป็น 30% ภายในปี 2564 การลงทุนครั้งนี้สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ 2073 ของ เอดีบี ซึ่งกำหนดว่าอย่างน้อย 75% ของจำนวนการดำเนินงานที่ได้รับความช่วยเหลือของ ธนาคารจะช่วยลดผลกระทบและปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ภายในปี 2573 โดย เอดีบี จัดสรรเงินกู้ 80,000 ล้านดอลลาร์เพื่อกิจกรรมปรับปรุงสภาพภูมิอากาศในช่วง 2561-2573
เอดีบี มุ่งมั่นที่จะบรรลุความเจริญรุ่งเรือง มีส่วนร่วม ความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของเอเชียและแปซิฟิก ในขณะที่ยังคงรักษาความพยายามในการขจัดความยากจนให้หมดไป โดย เอดีบี ก่อตั้งขึ้นในปีพ ศ.2509 โดยมีสมาชิก 67 รายจาก 48 ประเทศ ในภูมิภาคนี้ และในปี 2560 การดำเนินงานของเอดีบีมีมูลค่ารวม 32.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการร่วมให้เงินกู้จำนวน 11.9 พันล้านดอลลาร์ อีกด้วย