กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--กรมอุทยานแห่งชาติ
เมื่อวันก่อน น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ร่วมกับชมรมคนรักษ์สัตว์-ป่า กลุ่มเพื่อนทับลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กลุ่มชุมชนอาสาเฝ้าระวังช้างป่าดงใหญ่ ได้ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวที่บ้านหนองบอน ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เพื่อแก้ปัญหาชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าในฤดูกาลเก็บเกี่ยว และสร้างความสามัคคีในกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่า รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยระหว่างคนกับช้าง
น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า จากสภาพปัญหาช้างป่าบุกรุกเข้าพื้นที่เกษตรกรรม และสร้างความเสียหายให้กับพืชผลและนาข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาข้าวในฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ จึงให้นโยบายการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ทั้งนี้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ รณรงค์ให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่มีผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ช้างป่าที่ออกมาหาอาหารนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ลิงและสัตว์ อื่นๆ ที่ออกมาตามชุมชนเมือง และให้ความสำคัญถึงความปลอดภัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และย้ำหนักเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า จึงได้มอบหมายงานให้กับตนและนายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ. บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาช้างป่า 20 ปี ในการใช้กลยุทธ์ภายใต้โครงการ "เกี่ยวข้าวก่อนช้าง" ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนช้างเข้าบุกรุกพื้นที่ โดยตลอดระยะเวลาในการเกี่ยวข้าวนั้น ยังได้รับการสนับสนุนจากวงดนตรีพื้นบ้านมาสร้างเสียงดนตรีสร้างความสนุกสนานครื้นเครง ถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมพื้นถิ่นอย่างมีส่วนร่วม
น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกเยี่ยมชาวบ้าน ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ไร่นาและสวนที่อยู่ในแนวป่าดงใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และพูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมของช้างป่า ให้ชาวบ้านมีความระมัดระวังในการอยู่ร่วมและเข้าใจในสถานการณ์ช้างป่าที่เกิดขึ้น โดยเน้นหลักการกลัวช้างป่าและเฝ้าช้างป่าอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อนำมาสู่การปรับตัวและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า จากนั้นกรมอุทยานฯ ร่วมกับชุดอาสาเฝ้าระวังช้างป่าดงใหญ่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานสำรวจพื้นที่ และผลักดันช้างกลับคืนสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ทั้งนี้โครงการเกี่ยวข้าวก่อนช้าง เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้และปรับวิถีชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กับช้างป่าให้สามารถลดปัญหาเหล่านี้ลงได้และได้ผลสำเร็จ ซึ่งแผนการดำเนินงานต่อไปเราอาจทำเป็นประจำทุกปี หรืออาจเป็นประเพณีหลักของจ.บุรีรัมย์เป้าหมายของกรมอุทยานแห่งชาติฯนั้น ต้องการให้ชุมชนและสัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย เกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยกัน อันจะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์สมดุลกับธรรมชาติในระบบนิเวศสืบต่อไป หัวหน้าฝ่ายฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอเชิญชวนประชาชนเที่ยวชมงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติประจำปี 2561 กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระชุมชนและประชาชนทั่วไป กำหนดจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด "สังคมอยู่เย็น สัตว์ป่าเป็นสุข" ระหว่างวันที่ 24-27 ธ.ค. 2561 ณ สวนลุมพินีเขตปทุมวัน กทม.