ปภ.แนะผู้ขับขี่เมาไม่ขับ...ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 12, 2018 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วขับรถ ทำให้ความสามารถในการขับรถลดลง ไม่สามารถแก้ไขเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะรุนแรง พร้อมแนะผู้ขับขี่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งช่วงก่อนและขณะขับรถ หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับรถอย่างเด็ดขาด ควรใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถโดยสารสาธารณะ เพิ่มความระมัดระวัง ในการขับรถช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนไปแล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่ม ความปลอดภัยในการเดินทาง นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์แล้วขับรถเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ความสามารถในการขับรถลดลง การคาดคะเนและการกะระยะห่างจากรถคันอื่นผิดพลาด รวมถึงมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินช้ากว่าปกติ 8 เท่า จึงไม่สามารถแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนมีพฤติกรรมการขับขี่ ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ ดังนี้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งช่วงก่อนและขณะขับรถ เพราะทำให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง ไม่สามารถแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้อย่างปลอดภัย หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับรถอย่างเด็ดขาด ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มขับรถแทน ใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถโดยสารสาธารณะ กรณีไม่มีเพื่อนร่วมทาง ควรรอจนสร่างเมา จึงค่อยขับรถไปต่อ เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนไปแล้ว เพราะกว่า 1 ใน 10 ของผู้ขับรถมักเมาแล้วขับ และมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย จึงเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมาจะมีพฤติกรรมการขับรถที่ไม่ปลอดภัย เช่น ขับรถคร่อมช่องทาง เปลี่ยนช่องทางไปมา ขับรถย้อนศร เฉี่ยวชนวัตถุริมข้างทาง และขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น เพื่อความปลอดภัย ควรลดความเร็วและเว้นระยะห่างจากรถคันดังกล่าวให้มากขึ้น จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ