กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 สำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินบางตำแหน่งออกไป โดยให้บังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2561 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
1. แก้ไขนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ตามมาตรา 4 ในส่วนกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยแก้ไขตัดคำว่า "กรรมการ" และเพิ่มเติมข้อความเป็น "ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด" อันมีผลทางกฎหมาย ดังนี้
1.1 กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่อยู่ในนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้ จึงส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 เป็นผู้ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป ซึ่งบุคคลดังกล่าวคือบุคคลตามข้อ 4 (7) 7.8 อันได้แก่ 7.8.1 กองทุน 7.8.2 ธนาคารแห่งประเทศไทย 7.8.3 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 7.8.4 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 7.8.5 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก 7.8.6 สถาบันพระปกเกล้า 7.8.7 สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 7.8.8 องค์การมหาชน
1.2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่น ของรัฐ ให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ โดยสามารถพิจารณากำหนดเฉพาะบางตำแหน่งที่มีความสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากบทนิยามเดิมที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถพิจารณากำหนดบางตำแหน่งได้ จึงต้องประกาศ ทุกตำแหน่ง
2. ยกเลิกข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ได้ปรากฎชื่อตำแหน่งในประกาศดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะประกาศกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมในภายหลัง
ขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการขององค์การมหาชน และกรรมการของกองทุนต่างๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าสมควรกำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 หรือมาตรา 103 จะมีผล ทางกฎหมายที่แตกต่างกันในสาระสำคัญ กล่าวคือ กรณีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (1) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีตามมาตรา 102 (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (3) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และ (9) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด เป็นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามมาตรา 106 แต่หากเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 ไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 106
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน