กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายพสุ โลหารชุนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาพันธ์ SME ไทย ในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561
นายอุตตมฯ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้กำหนดแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2561-2564) โดยมีศักยภาพด้านเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ การค้า และการท่องเที่ยวสากล ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการหารือภาคเอกชนในพื้นที่ได้นำเสนอโครงการเพื่อสนับสนุนการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (13 ธันวาคม 2561) ดังนี้
1) โครงการพัฒนาศักยภาพเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (ข้าวและสมุนไพร) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้มีความสามารถด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบภายในประเทศ พัฒนานวัตกรรมอาหารอนาคตที่มีมูลค่าสูงสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงและเปิดตลาด สู่ตลาดโลกด้วยช่องทางดิจิทัล พร้อมสร้างปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยภาคเอกชนมีความต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาและยกระดับ ในด้านองค์ความรู้และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เรื่องข้าวอินทรีย์/สมุนไพรในพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าในตัวผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในกลุ่มจังหวัดกว่า 1,423 ล้านบาท
ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จ.อุดรธานี) จะช่วยสนับสนุนและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีการผลิต การบรรจุ บรรจุภัณฑ์และการออกแบบแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ ส่งเสริมระบบมาตรฐานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น มผช. มอก.s ฯลฯ
2) โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และการยกระดับผ้าทอมือสู่สากล เพื่อ 1) รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและพัฒนาวัตถุดิบผ้าทอมือให้ได้มาตรฐาน พัฒนาการผลิตเส้นใยไหม เส้นใยฝ้ายสู่มาตรฐาน จัดหาเครื่องมือปั่นไหม ฝ้าย รวบรวมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ผ้าทอมือ และตั้งศูนย์ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ผ้าทอมือ ลุ่มน้ำโขง 2) ยกระดับผ้าทอมือ สร้างมูลค่าและเพิ่มศักยภาพสู่สากล พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือให้ตรงกับ กลุ่มผู้ใช้และกลุ่มตลาดต่างประเทศ ฝึกอบรมสร้างเยาวชนนักออกแบบรุ่นใหม่ สร้างผู้ประกอบการผ้าทอมือรุ่นใหม่ พัฒนาตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ ตั้งศูนย์ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ผ้าทอมือลุ่มน้ำโขง และ 3) การส่งเสริมการตลาดผ้านาข่า พัฒนาตลาดนาข่าให้เข้าสู่ระบบ Smart Market ตั้งศูนย์กระจายสินค้า Distribution Center สร้างการรับรู้ในระดับสากล วงเงินงบประมาณ 97 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมผ้าทอพื้นเมืองกว่า 4,000 ล้านบาท
ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าไปศึกษาในรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการยกระดับผ้าทอมือในพื้นที่ต่อไป
3) โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ 2,170 ไร่ โดยภาคเอกชนขอรับการสนับสนุน สิทธิประโยชน์ต่างๆให้เทียบเท่าผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เนื่องจากมีความพร้อมด้านการลงทุนและการดำเนินการของเอกชนในพื้นที่และอยู่ห่างจากชายแดนเพียง 53 กิโลเมตร พร้อมทั้งเสนอให้มีการสำรวจและศึกษาเพื่อก่อสร้างถนน Local Road เชื่อมต่อจากถนนเลียบทางรถไฟหนองตะไก้จนถึงใจกลางเมืองอุดรธานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรและรองรับการเติบโตของชุมชนรอบนิคมฯ ในอนาคต โดยคาดว่าหากโครงการสำเร็จจะมีโรงงานเกิดขึ้น 80-100 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 15,000-20,000 อัตราในพื้นที่ และจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท