กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ YLG เปิดเผยว่า ราคาทองคำตลาดโลกในปี 2018 มีกรอบการแกว่งตัวมากกว่า 200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยขึ้นไปทำระดับสูงสุดบริเวณ 1,366.06 ดอลลาร์ต่อออนซ์และมีระดับต่ำสุดที่ 1,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศมีกรอบการแกว่งตัว 2,300 บาทต่อบาททองคำ ในระหว่างปีราคาทองคำในประเทศมีระดับสูงสุดอยู่ที่ 20,450 บาทต่อบาททองคำและร่วงลงทำระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 10 เดือนบริเวณ 18,150 บาทต่อบาททองคำ
แม้ไตรมาสแรกราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดของปีบริเวณ 1,366.06 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ไปจนถึงกลางไตรมาส 3 จะเห็นได้ว่าราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์จากการคาดการณ์ถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ความต้องการดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การอ่อนค่าของสกุลเงินยูโรจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ด้านกองทุน SPDR ลดการถือครองทองคำลงต่อเนื่อง ประกอบกับสถานะขายซึ่งเป็นการเก็งกำไรในทิศทางขาลงในสัญญาฟิวเจอร์สทองคำ COMEX เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลเชิงลบเพิ่มเติมจนกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงแตะระดับต่ำสุดของปี 2018 และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 19 เดือนบริเวณ 1,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันที่ 16 ส.ค. ก่อนที่ราคาทองคำจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องจนมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรง ขณะเดียวกันมุมมองเกี่ยวกับการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย. โดยนักลงทุนคาดการณ์มากขึ้นว่า เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2019
นางพวรรณ์ กล่าวว่า ราคาทองคำในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาระดับต่ำสุดและระดับสูงขึ้นจะยกสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าแต่ก็ไม่มาก โดยระดับต่ำสุดของปี 2018 ยกสูงกว่าระดับต่ำสุดของปีก่อนหน้าราว 15 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ระดับสูงสุดของปี 2018 สูงกว่าระดับสูงสุดของปีก่อนหน้าเกือบ 10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ YLG ประเมินว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปี 2019 อาจมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวออกด้านข้างในทิศทางค่อยๆขยับขึ้น โดยราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 1,160-1,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ประมาณ 18,000-21,400 บาทต่อบาททองคำ ทั้งนี้ แนวต้านแรกจะอยู่ในโซน 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือ 20,900 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเดิมของปี 2018 หากราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือแนวต้านระดับดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง ยังมีโอกาสที่ราคาทองคำจะขยับขึ้นต่อเพื่อทดสอบแนวต้านในโซน 1,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือ 21,400 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่แนวรับแรกอยู่บริเวณ 1,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,250 บาทต่อบาททองคำ แต่หากราคายืนแนวรับแรกไม่ได้ต้องระมัดระวังการปรับตัวลงต่อ โดยมีโอกาสปรับตัวลงต่อทดสอบบริเวณ 1,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,000 บาทต่อบาททองคำ
ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานที่ต้องติดตามในปี 2019 ส่วนใหญ่ยังเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องมาจากปี 2018 โดยจุดโฟกัสจะยังอยู่ที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะแนวโน้มที่เฟดอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2019 รวมถึงผลกระทบจากการเมืองสหรัฐที่สภาคองเกรสถูกแบ่งเป็น 2 พรรค แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจชะลอตัวลงและปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ อีกทั้งหากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐคลี่คลายลงก็จะยิ่งลดความต้องการดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย นอกจากนี้แนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)จะปรับนโยบายการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ(monetary policy normalization)จะเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินยูโรและทองคำเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงในเชิงลบต่อราคาทองคำ เห็นจะเป็นปัญหาการเมืองในฝั่งยุโรปที่จะเป็นกดดันสกุลเงินยูโรให้กลับมาอ่อนค่าได้ บวกรวมกับความเสี่ยงในกรณีที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไปอาจจะทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่ากดดันการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในปี 2019
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เบื้องต้นแนะนำนักลงทุนเข้าซื้อเมื่อราคาสามารถยืนเหนือบริเวณแนวรับ 1,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,250 บาทต่อบาททองคำได้อย่างแข็งแกร่ง โดยไม่แนะนำให้เข้าซื้อทั้งหมดบริเวณแนวรับใดแนวรับหนึ่ง ควรเหลือเงินทุนเพื่อซื้อเฉลี่ยหากราคาหลุดแนวรับแรก ซึ่งประเมินแนวรับถัดไปโซน 1,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 18,000 บาทต่อบาททองคำ เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นอาจพิจารณาแบ่งทองคำออกขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านแนวต้านที่ 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือ 20,900 บาทต่อบาททองคำ แต่หากผ่านได้สามารถชะลอการขายไปยังโซนแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือ 21,400 บาทต่อบาททองคำ
(ราคาทองคำในประเทศคำนวณโดยใช้ค่าเงินบาท ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2018 เวลา 11.57 น. : 32.76 บาทต่อดอลลาร์)