กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--เอบีเอ็ม
บริษัทจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งทำกำไรให้แก่อุตสาหกรรมมหาศาล แต่ก็ต้องปรับหาระดับประสิทธิภาพด้านขนาดที่เหมาะสม และอาจเสี่ยงต้องเตรียมรัดเข็มขัดในอนาคต
งานวิจัยฉบับใหม่ของเอคเซนเชอร์ (NYSE: ACN) ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมตลาดทุนจะสามารถขจัดความไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างไรในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมนี้ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือดิจิทัลดิสรัปชั่น และรับมือกับการบริหารโครงสร้างต้นทุนใหม่ พร้อมสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นไปด้วย
รายงานวิจัยเรื่อง "Capital Markets Vision 2022" เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในอุตสาหกรรมตลาดทุนด้วยระเบียบวิธีของเอคเซนเชอร์ และการสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรชั้นนำในตลาดทุน
ผลวิจัยหลัก ๆ ที่พบได้แก่ ผู้บริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งต่าง ๆ สามารถทำกำไร (หลังหักภาษีและต้นทุนเงินทุน) ได้ถึง 90% ของทั้งวงการ แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพด้านขนาด (scale efficiency) และควรเตรียมรับมือกับภาวะตลาดขาลงได้แล้ว เนื่องจากมีอัตรากำไรน้อยลง ขณะเดียวกัน ในแวดวงกิจการวาณิชธนกิจ กลับมีหลายทิศทางต่างกัน มีทั้งกิจการทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ทำกำไรทางเศรษฐศาสตร์ได้ในสัดส่วน 10 เซ็นต์หรือมากกว่านั้นต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อีกหลายแห่งทำกำไรได้ไม่คุ้มกับต้นทุนเงินทุน ส่วนกิจการด้านระบบพื้นฐานตลาดแบบเดิม ก็ต้องเจอกับคู่แข่งใหม่ ๆ ในตลาดค้าเงินดิจิทัล
"เสือนอนกิน" (Lucrative Inefficiencies)
จากการวิเคราะห์ของเอคเซนเชอร์พบว่า กิจการในตลาดทุนมีรายได้สุทธิต่อปีถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่กำไรทางเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับ และลูกค้า ต่างหวังให้กิจการสร้างมูลค่าให้ได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE นั้น ลดลงเรื่อย ๆ จึงเกิดแรงกดดันต่อรายได้ค่าธรรมเนียม อุตสาหกรรมอาจมีภาระหนักอึ้ง ไม่สามารถทำกำไรมาชดเชยส่วนที่หายไป ซึ่งในอดีตเคยทำกำไรได้ดี แม้จะหย่อนประสิทธิภาพ คล้ายกับเสือนอนกิน
"บางคนคาดว่าตลาดทุนจะปรับฐานอีกครั้งและกลับมาใกล้ระดับก่อนวิกฤตทางการเงิน แต่เรากลับเห็นภาพรวมในอีกหลายปีต่อไปข้างหน้า ในทางตรงกันข้าม" นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว
"อุตสาหกรรมนี้ ยังคงพึ่งพากิจกรรมที่เป็นเหมือน "เสือนอนกิน" (lucrative inefficiencies) ที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะอุตสาหกรรมยังทำกำไรได้ดีอยู่ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่น คือ เซกเตอร์ที่ทำเงินหลักในตลาดทุน มีโครงสร้างต้นทุนแยกย่อยออกไป เป็นผลจากดิสรัปชั่นด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สถานการณ์สุกงอม"
รายงานฉบับนี้ใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ทางการเงินของอุตสาหกรรมตลาดทุน ด้วยระเบียบวิธีของเอคเซนเชอร์ รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้บริหารกิจการชั้นนำในอุตสาหกรรม โดยเน้นที่ 3 กลุ่มหลัก คือ วาณิชธนกิจ การบริหารความมั่งคั่งและสินทรัพย์ และกิจการด้านระบบพื้นฐานของตลาด พบว่า:
กิจการบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่ง เป็นสองธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีที่สุดในอุตสาหกรรม ซึ่งดูเป็นการฝืนตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ เพราะที่จริงธุรกิจทั้งสองต้องแข่งกันที่ขนาดหรือสเกล แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น การวิเคราะห์ของเอคเซนเชอร์พบว่า กิจการบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด มีอัตราทำกำไรพอ ๆ กับกิจการขนาดกลาง ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งก็เป็นเช่นเดียวกัน รายงานของเอคเซนเชอร์จึงแนะนำให้กิจการด้านการลงทุนทั้งหลายปรับตัวให้เข้ากับยุคและบริหารธุรกิจให้เหมาะกับขนาด เพื่อรักษาอัตราการทำกำไรและความสำเร็จให้คงอยู่ต่อไปได้
กิจการวาณิชธนกิจ มีกำไรแตกต่างกันมาก กิจการระดับท็อป 4 ซึ่งเป็นกิจการในสหรัฐฯ มีรายได้ต่อปีประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่านั้น และมีกำไรทางเศรษฐศาสตร์ที่ดีด้วย ส่วนกิจการอื่น ๆ ที่ให้บริการวาณิชธนกิจเต็มรูปแบบกลับไม่สามารถทำรายได้ให้คุ้มกับต้นทุนเงินทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังปรับโครงสร้างธุรกิจได้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หรือลงทุนเพิ่มไม่ได้ อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดของกิจการไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำกำไรมากนัก เพราะกิจการขนาดกลางยังสามารถทำกำไรในตลาดเฉพาะหรือตลาดนิชได้ บางแห่งทำกำไรทางเศรษฐศาสตร์ได้ถึง 10-15 เซ็นต์ต่อรายได้แต่ละดอลลาร์ที่ได้รับ
กิจการด้านระบบพื้นฐานของตลาด รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า รายได้จากตลาดเงินสกุลดิจิทัลในปัจจุบัน สามารถเทียบได้กับรายได้จากตลาดหลักทรัพย์ในแบบเดิมแล้ว โดยธุรกิจนายหน้าระหว่างผู้ค้า (interdealer brokerage business) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการที่อิงกับตลาดดั้งเดิม มีฐานกำไรก่อนหักภาษีที่น้อยลงเรื่อย ๆ และส่วนใหญ่ก็ให้มูลค่าผู้ถือหุ้นต่ำลงด้วย สายธุรกิจที่ทำกำไรดีที่สุดก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เป็นกิจการที่ทำกำไรก่อนหักภาษีในระดับที่มากกว่า 50% แม้กระนั้น แนวโน้มการเติบโตยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง กิจการส่วนใหญ่จึงมองหาโอกาสด้านอื่นด้วย เช่น การให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ บริการเกี่ยวกับข้อมูล และการค้าหลักทรัพย์ ทั้งหลักทรัพย์แบบเดิมและที่เป็นดิจิทัล
"การปรับตัวของอุตสาหกรรมมูลค่าล้านล้านเหรียญในยุคดิจิทัล ในช่วงที่มีการดิสรัปชั่นชัดเจน ถือได้ว่าซับซ้อนมาก และต้องปรับเป้าหมายในแนวทางใหม่กันเลยทีเดียว" นายนนทวัฒน์กล่าวและเสริมว่า "แต่ก็ถือเป็นยุคที่มีโอกาสสำคัญ ๆ ให้สำหรับคนที่ลงมือทำก่อน ไม่เช่นนั้น แหล่งที่สร้างมูลค่าหรือโอกาสต่าง ๆ อาจถูกฉวยไปจนไม่เป็นกอบเป็นกำ กิจการที่ขยับตัวไวจะมีโอกาสการทำกำไรใหม่ ๆ ได้จาก "การแข่งขันเพื่ออยู่รอด" (race for relevance) ขณะที่ยังทำกำไรจากธุรกิจและลูกค้าเดิมในอุตสาหกรรมได้ด้วย"
เส้นทางสู่ความสำเร็จ
รายงานฉบับนี้ได้แนะนำกลยุทธ์เป็นทางเลือกให้ผู้บริหารกิจการในตลาดทุนได้พิจารณาหลากหลายทาง หากต้องการมุ่งสู่ความสำเร็จในยุคแห่งการดิสรัปชั่น กลยุทธ์เหล่านั้น ได้แก่:
- การนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบการบริหารการลงทุน
- การปรับทิศทางระดมทุนในตลาดทุนและให้บริการด้านการบริหารเงินแก่องค์กร เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล
- การจัดสมดุลการค้าใหม่ โดยเน้นที่โมเดลการปฏิบัติการ
- การปรับเปลี่ยนส่วนงานด้านบริหารความเสี่ยงและกำกับดูแลกิจการ
- การนำข้อมูลที่ไม่ได้ใช้งานมาทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ
- การจัดกระบวนการบริหารและจัดการทรัพยากรบุคคลในโมเดลใหม่ ให้พร้อมด้วยทักษะและโครงสร้างทีมงานแบบใหม่
- การผนวกเทคโนโลยีคลาวด์และไซเบอร์เข้ามาใช้เสริมสร้างพื้นฐานให้ยืดหยุ่นและต้านทานต่อปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ
รายงานวิจัยฉบับเต็มสามารถดูได้ที่ www.accenture.com/CapitalMarkets2022
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Accenture Capital Markets ดูได้ทาง www.accenture.com/CapitalMarkets.
ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีวิจัย
ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ เอคเซนเชอร์ได้วิเคราะห์ฐานมูลค่าต่าง ๆ จากล่างขึ้นบน โดยพิจารณาผลประกอบการของผู้เล่นในตลาดแต่ละแห่ง เพื่อให้มองเห็นภาพรวมอุตสาหกรรมและเซกเตอร์ย่อย ในแง่อัตราการทำกำไร โดยใช้ข้อมูลปีการเงิน 2017 เป็นปีฐาน เอคเซนเชอร์ได้ใช้กำไรทางเศรษฐศาสตร์เป็นตัวชี้วัด แล้วหักด้วยความเสี่ยงที่เสียไป ต้นทุนการดำเนินงานรวม ภาษี และต้นทุนเงินทุน ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนทำให้องค์กรในกลุ่มหลัก ๆ มีกำไร เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ การบริหารการเงินและการลงทุนขององค์กร การบริหารสินทรัพย์ การบริหารความมั่งคั่ง และด้านระบบพื้นฐานของตลาด จากนั้น ทีมวิจัยได้อภิปรายและหารือกับผู้บริหารในตลาดทุนเกี่ยวกับข้อมูลปีฐานและพัฒนาการของมูลค่าต่าง ๆ ที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผู้บริหารบางรายก็เห็นแย้งกับสถานการณ์ภาพรวมที่เกิดขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับเอคเซนเชอร์
เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ดิจิทัล การบริหารเทคโนโลยีและการปฏิบัติการชั้นนำของโลก และด้วยประสบการณ์การทำงานอย่างลึกซึ้ง ผนวกกับศักยภาพที่สมบูรณ์แบบในกว่า 40 อุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทุกสายงานของธุรกิจ พร้อมด้วยเครือข่ายการให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เอคเซนเชอร์สามารถร่วมมือกับลูกค้า เชื่อมต่อธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ยกระดับองค์กรของลูกค้าให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและสมรรถภาพสูง สามารถสร้างคุณค่าอันยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นได้ ปัจจุบันเอคเซนเชอร์ มีพนักงานประมาณ 459,000 คนในกว่า 120 ประเทศ เอคเซนเชอร์มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.accenture.com