กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--เอสซีจี
เอสซีจี ร่วมกับชุมชนบ้านมดตะนอย ชุมชนเกาะลิบง หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย ขยายโครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที" ในพื้นที่ปลายน้ำ จังหวัดตรัง วางบ้านปลาจากนวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี ที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ในน้ำทะเล ตามเป้าหมาย 300 หลังภายในปี 2561 พร้อมอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งด้วยการปลูกป่าชายเลนและหญ้าทะเล เพื่อเป็นแหล่งพักพิงให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน บ้านมดตะนอย และชุมชนเกาะลิบง ควบคู่การพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นให้เป็นชุมชนต้นแบบ ก่อนขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
นายศาณิต เกษสุวรรณ Business Stakeholder Engagement Director - Cement and Construction Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า "เอสซีจี ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด หนึ่งในภารกิจสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เอสซีจีผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง คือ การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ตลอดจนพื้นที่ปลายน้ำ ตามแนวพระราชดำริฯ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภายใต้โครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที" ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ และช่วยให้ชุมชนดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข
ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นอีกหนึ่งชุมชนชาวประมงในพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งประสบปัญหาไม่สามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้ในฤดูมรสุมระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน ของทุกปี ทำให้ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เอสซีจีจึงได้ร่วมมือกับชุมชนวางบ้านปลาบริเวณคลองลัดเจ้าไหมไปแล้วจำนวน 200 หลัง และจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมาย 300 หลังภายในปี 2561 นี้ และจากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณบ้านปลาโดยสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายหลังจากการวางบ้านปลาประมาณ 3 เดือน พบว่า มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และปลาเศรษฐกิจ 8 ชนิด มาอาศัยอยู่บริเวณบ้านปลา เกิดการขยายพันธุ์ และทำให้ชุมชนมดตะนอยสามารถหาปลาในหน้ามรสุมได้อีกด้วย
สำหรับครั้งนี้ เอสซีจีได้ขยายการดำเนินโครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที" ไปยังเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพะยูน สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมีหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารสำคัญ แต่เนื่องจากมีการรุกรานที่อยู่อาศัย ทำให้พะยูนและหญ้าทะเลมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เอสซีจีจึงได้ร่วมกับชุมชนเกาะลิบง หน่วยงานจากภาครัฐ เช่น หน่วยเขตห้ามล่าสัตว์ลิบง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลระบบนิเวศชายฝั่ง ดูแลระบบนิเวศด้วยการวางบ้านปลาที่หล่อขึ้นจากปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง และทนต่อซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเลอีก 100 หลัง รวมถึงการปลูกป่าโกงกาง 400 ต้น หญ้าทะเล 4,000 ต้น และยังร่วมกับกลุ่มพิทักษ์ดุหยงจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชาวประมงของชุมชนเกาะลิบง โดยมีภาคการศึกษาเป็นเครือข่ายที่จะช่วยวัดผลสำเร็จของโครงการอนุรักษ์ชายฝั่งอย่างยั่งยืน"
ด้าน นายเมธี มีชัย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช กล่าวว่า "การวางบ้านปลาหรือปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการปลูกป่าชายเลน ปลูกหญ้าทะเล ภายใต้โครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที ... สร้างบ้านให้ปลา ปลูกหญ้าให้พะยูน" ช่วยคืนความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรชายฝั่งที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จึงสอดคล้องกับภารกิจของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนมาช่วยกันดูแลรักษา และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรต่างๆ โดยทีมของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงก็ได้มาช่วยสำรวจพื้นที่พร้อมระบุพิกัดที่จะจัดวางบ้านปลา รวมทั้งกำหนดกติการ่วมกับชุมชนในการดูแล และบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง ถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เป็นความร่วมมือที่น่าภาคภูมิใจที่คนในพื้นที่มาร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติอย่างยั่งยืน และหวังว่า ความร่วมมืออย่างดียิ่งเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับทุกโครงการที่จะจัดทำร่วมกันต่อไปในอนาคต"
นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า "จังหวัดตรังมีการวางแผนนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ ผ่านการสนับสนุนให้ชุมชนชายฝั่งมีความเข้มแข็งในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริม กระตุ้น และปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีความรู้สึกหวงแหน เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิชาการที่จะนำองค์ความรู้มาช่วยให้เกิดการดำเนินงานตามหลักวิชาการ มีการวัดผลสำเร็จของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ภาคเอกชนที่มาช่วยสนับสนุนทั้งวัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แก้ไขปัญหาเดิมๆ ให้หมดไป ภาคประชาสังคมและเครือข่ายจิตอาสาที่มาร่วมแรง ลงมือช่วยกันทำจนโครงการเสร็จสิ้นจะช่วยผลักดัน และสนับสนุนให้การดำเนินงานของหน่วยงานราชการกับชุมชนในพื้นที่ประสบความสำเร็จและเห็นผลเชิงประจักษ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"
เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที" ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมผสานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป