กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป (ESCAP) และกูเกิล (Google) จัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยผลกระทบทางสังคมของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Social Impact Summit เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ณ ห้อง Eternity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีภาครัฐ NGOs ภาควิชาการและภาคเอกชน จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมประชุม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวในตอนหนึ่งของการประชุมว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าที่ทุกคนกล่าวขวัญถึงในปัจจุบันและจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต และแม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ในหลายด้าน แต่ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพลิกผัน จึงทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบทางสังคมในทางลบ ซึ่งเรื่องนี้ สวทน. ได้มีมาตรการรองรับโดยได้เสนอร่างกฎหมายที่เรียกว่า policy and regulatory sandbox เพื่อสนับสนุนการทดลองเชิงนโยบายและกฎระเบียบในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ไปใช้ในสังคมเพื่อศึกษาผลกระทบในวงจำกัดแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขพร้อมออกกฎระเบียบที่เหมาะสมก่อนนำออกใช้จริงในวงกว้าง ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้จะช่วยให้สังคมคลายความกังวลและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้เต็มที่ โดยเฉพาะในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยแนวทางการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย นอกจากนี้ สวทน. คาดหวังว่าเครือข่าย ARTNET on STI และ AI for Social Good จะเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคจะนำมาซึ่งการจัดทำนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่มีประสิทธิผลและเชื่อมโยงกันต่อไป
Ms. Armida Salsiah Alisjahbana ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป กล่าวว่า เอสแคปเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการเร่งบรรลุเป้าหมาย SDGs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเอสแคปได้ร่วมกับกูเกิล และ Association of Pacific Rim Universities (APRU) จัดตั้งเครือข่ายวิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific AI for Social Good Research Network) โดยต่อยอดจากเครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมด้านนโยบาย วทน. แห่งเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARTNET on STI ที่เอสแคป สวทน. และสถาบัน STEPI แห่งประเทศเกาหลีร่วมกันจัดตั้งขึ้น ซึ่งเครือข่ายวิจัย AI ดังกล่าวจะเป็นเวทีรวบรวมนักวิชาการชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อผลิตงานวิจัยวิธีการส่งเสริม AI เพื่อสังคม และโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อบริหารความเสี่ยงและข้อกังวลต่าง ๆ
ด้าน Mr. Kent Walker, รองประธานอาวุโส Google AI กล่าวว่า กูเกิลยินดีที่จะร่วมมือกับเอสแคปและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ กูเกิลได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดการแข่งขัน Google AI Impact Challenge โดยเปิดรับข้อเสนอจากองค์กรหรือสถาบันที่มีแนวคิดที่ดีในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI เพื่อสังคมจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2562 (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://ai.google/social-good/impact-challenge)
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอกรณีศึกษาการใช้ AI เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคม อาทิ AI เพื่อการศึกษา AI เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง AI เพื่อการแพทย์ ที่นำเสนอโครงการป้องกันตาบอดจากโรคเบาหวาน โดยนายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ต่อด้วยการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำกับดูแล AI และบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริม AI เป็นต้น
ฃฃ