กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--เอเชียไลฟ์ มีเดีย
วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (College of Creative Industry - CCI) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) จัดเสวนา 'ทิศทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย' ในวาระสถาปนาครบรอบ 1 ปี โดยมีเหล่าผู้ประกอบการสายเลือดใหม่ที่คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย แต่ยังคงรักษาDNA ศิษย์เก่าจากการบ่มเพาะของ มศว. และสามารถสร้างเส้นทางของตัวเองไปไกลระดับโลกมาร่วมแบ่งปันแนวทางการทำธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย เมื่อวานนี้ ณ ห้องอเนกประสงค์ อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ด้วยความมุ่งมั่นนโยบาย 'คนสร้างสรรค์ นวัตกรรมสร้างคุณค่า' (Creative People, Innovative Value) CCI มุ่งมั่นสร้างบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มจากการต่อยอดวิธีคิด การสร้างนวัตกรรม และร่วมส่งเสริมภูมิปัญญาให้ยั่งยืน ปัจจุบัน CCI มีหลักสูตรบูรณาการเน้นการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และความเป็นผู้ประกอบการใหม่ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทใน 3 สาขาหลักคือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แฟชั่น และของตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมรากฐานของประเทศ รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยังมี Short Course ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจทำธุรกิจสร้างสรรค์ผ่านโครงการKiThai โดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลักข้างต้น ได้มาศึกษาเพื่อต่อยอดธุรกิจของตัวเองให้รอบด้านและเป็นรูปธรรม สามารถสร้างอาชีพและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนพร้อมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันได้
คุณคณาพจน์ อุ่นศร เจ้าของแบรนด์ KANAPOT AUNSORN แชร์มุมมองว่า 'การสร้างสรรค์ไม่ควรจะเป็นการดัดแปลงหรือ copy แต่ควรมีจุดที่แสดงตัวตนของแบรนด์ได้' ในขณะที่คุณบุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เจ้าของแบรนด์ 31THANWA นำเสนอว่า 'การสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ให้แปลกแตกต่างเพียงอย่างเดียว แต่การสืบสานก็ช่วยเพิ่มคุณค่าจากภูมิปัญญาและฝีมือที่มีเอกลักษณ์เดิมได้'
ทางด้านคุณศรุตา เกียรติภาคภูมิ เจ้าของแบรนด์ PIN METAL ART ที่เน้นการนำเศษขยะมาตีโจทย์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้แง่คิดว่า 'สิ่งที่ทำอยู่เป็นการ turn waste to investment คือ การเพิ่มความประณีตช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุชิ้นเดิมได้ และถ้าเรานำเสนอตัวเองชัด คนก็จะรู้จักเราใน position ที่ชัดเช่นกัน' ในส่วนของคุณสมศักดิ์ บุญคำ เจ้าของแบรนด์ LOCAL ALIKE ย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการลงมือทำ 'คิด แล้วต้องทำ แล้วถ้าทำต้องไม่ใช่ดีแต่ตัวเอง คนอื่นก็ต้องได้ดีด้วย' และปิดท้ายด้วยคุณสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ประธานบริษัท นคร เจมส์ จำกัด และกรรมการสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย เน้นย้ำแนวคิด 'ความแตกต่างควรถูกสร้างให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและมีคุณค่า' พร้อมแนะนำแนวโน้มธุรกิจ New Retail Ecosystem คือ การที่ผู้ผลิตสามารถส่งของถึงมือลูกค้าได้โดยตรง เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีและระบบที่รองรับการขนส่งให้ทันใจและสะดวกสบาย สามารถลดขั้นตอนและต้นทุนการผ่านมือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นเทรนด์การทำธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายตัวมากขึ้น
งานนี้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันและผู้ที่สนใจประเด็น Creative Industry ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับวิทยากรในบรรยากาศงานเลี้ยงน้ำชาอย่างเป็นกันเอง
ผู้ที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและกิจกรรม CCI สามารถติดตามได้ที่
Website: https://cci.swu.ac.th/ และ Facebook: https://www.facebook.com/CCISWU/