กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งมอบคูปองลดหย่อนภาษี " โครงการช้อปยางล้อช่วยชาติ " พร้อมเปิดตัวผู้แทนจำหน่ายยางล้อที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้ใช้จะต้องซื้อยางจากผู้ผลิตในนามของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง หวังเป็นอีกมาตรการในการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ภายหลังจากที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการ ช้อป ช่วย ชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสินค้าที่เข้าร่วมในปีนี้ มี 3 ประเภท ได้แก่ หนังสือ สินค้าโอทอป และยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งประชาชนที่ซื้อสินค้าดังกล่าวสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางรถยนต์จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ และคูปองที่ กยท. ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ หากซื้อช่วงปีไหนก็หักลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยเริ่มช้อปสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2561 จนถึง 16 มกราคม 2562 รวมระยะเวลา 1 เดือน ขณะนี้ โครงการช้อปยางล้อช่วยชาติ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ โดยมีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภาคสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีการผลิตวัตถุดิบให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ในส่วนภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการยางล้อ และตัวแทนจำหน่ายที่ให้การสนับสนุน รวมถึงภาคประชาชน ในฐานะผู้บริโภคที่ใช้ยางล้อ จะได้สินค้าดี มีคุณภาพ และช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ ได้แบ่งออกเป็น 2ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ ประเภท 4 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 100 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน และคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยาน ประเภทรถ 2 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 500 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน ซึ่งล่าสุดมีรายชื่อบริษัทที่ตกลงซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้ว เช่น บริษัท IRC Maxxis N.D Rubber ดีสโตน และโอตานิ ทั้งนี้ ยังมีบริษัทผู้ผลิตยางล้อในประเทศไทย ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อยางช่วยชาติ สามารถนำใบเสร็จ หรือเอกสารสัญญาซื้อยางจากคู่สัญญา ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. มาแสดงต่อ กยท.เพื่อรับคูปอง และนำคูปองไปกระจายต่อบริษัทหรือร้านค้าที่จำหน่ายยางได้ โดยทุกส่วนงานจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ามีร้านค้าใดเข้าร่วมโครงการ
"มาตรการนี้นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล และจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน" นายเยี่ยม กล่าวทิ้งท้าย