กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สวทน.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาพิเศษ หัวข้อ "นโยบายและการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย (Strategic Policy and Investment for Biorefinery in Thailand Forum)" เชิญวิทยากรระดับแนวหน้าแลกเปลี่ยนความรู้ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชนต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กาญจนา วานิชกร รองเลขาธิการ สวทน. มาบรรยาย หัวข้อ "BCG Economy : นโยบายและการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย" และยังได้รับเกียรติจากวิทยากรบริษัทชั้นนำ อาทิ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย มาร่วมเสวนาในหัวข้อ "โอกาสของธุรกิจไบโอรีไฟเนอรีและพลาสติกชีวภาพ"
ดร.กาญจนา วานิชกร รักษาการรองเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การสัมมนาและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับ "นโยบายและการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย" เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ที่ประชาคมนักวิจัยได้ยื่นสมุดปกขาว BCG in Action ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย BCG Economy จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านบาท (25% GDP) ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในสี่กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG คือ เป้าหมายด้านพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าว่าจะมุ่งสู่การเป็น ไบโอรีไฟเนอรี ฮับ ของเอเชีย โดยต้องเตรียมความพร้อมในการฝึกอบรมช่างเทคนิคและวิศวกรด้านไบโอรีไฟเนอรีเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมมีการลงทุนในโรงงานต้นแบบ และส่งเสริมการวิจัยคอมปาวด์และการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพ
"โอกาสของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทยเริ่มเห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ อาทิ แผนจัดการขยะพลาสติก ปี 60 – 64 มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ตลอดจนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร ที่จะก่อให้เกิด biocomplex ในพื้นที่ EEC ขอนแก่น และนครสวรรค์ แต่ยังมีประเด็นที่ไทยต้องหันมามองอย่างจริงจังเพื่อให้การลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีเกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมระดับโลก และก้าวสู่ไบโอรีไฟเนอรี ฮับ ของเอเชีย ตามเป้าหมายที่วางไว้ อาทิ การสร้างแผนที่นำทาง (Roadmap) หรือแพลตฟอร์มวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยต่างสาขา มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อเป็นผู้นำในอนาคต หรือการวิจัยเพื่อหาชีวเคมี (Biochemical) อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ตลอดจนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านกระบวนการชีวภาพ (Bioprocess) เป็นต้น" ดร.กาญจนา กล่าว
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ให้ความเห็นต่อนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทยอย่างหลากหลาย โดยหนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมไบโอนีไฟเนอรี่มีความโดดเด่นที่ไม่ใช่เพียงการสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญและสร้างคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยประเทศไทยมีวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ที่พร้อมมาก แต่ยังต้องเน้นการให้ความสำคัญกับเรื่องความต้องการของตลาดให้มีความชัดเจน และมีการวางกลยุทธ์เรื่องการตลาดควบคู่ไปด้วยจะสามารถทำให้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ของไทยสู่ "ไบโอรีไฟเนอรี ฮับ ของเอเชีย" ได้อย่างไม่ยาก