กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงาน นอกระบบแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม สอดคล้องสังคมไทยและมาตรฐานสากล พร้อมเล็งเปิดรับความคิดเห็นทางเว็บไซต์ต่อไป
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบแห่งชาติ พ.ศ. .... ในวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561 โดยมีแรงงานนอกระบบ ผู้นำกลุ่มต้นแบบแรงงานนอกระบบ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 240 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจถึงหลักการ เหตุผลและเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสียเพื่อจะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่ออย่างแท้จริง
นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มแรงงานที่มีความหลากหลาย ทั้งประเภทอาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานที่ทำงาน ความเสี่ยง ความมั่นคง และสภาพปัญหาของแต่ละกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมา กสร. มีกฎหมายที่ดูแลแรงงานนอกระบบ 3 กลุ่ม คือ ลูกจ้างทำงานบ้าน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ลูกจ้างในงานเกษตร ซึ่งมิได้มีการจ้างงานตลอดทั้งปี ตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 และกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 แต่ยังไม่มีกฎหมายในลักษณะที่ให้การส่งเสริมดูแลสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม ดังนั้น การคุ้มครองดูแลจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน นอกจากนี้ กสร. ได้เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบแห่งชาติ พ.ศ. .... ทางเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาศึกษารายละเอียดและแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอแนะ ที่ได้รับไปปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและมาตรฐานแรงงานสากล ตลอดจนมีแนวปฏิบัติที่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างสูงที่สุด