กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
ภูเก็ต รณรงค์ระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เตรียมเฮ ปี 2566 รถไฟฟ้ารางเบาเปิดให้บริการ กระทรวงคมนาคม โดย สนข. ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน การป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้นโยบาย One Transport, One Family" เดินทางปลอดภัย ใส่ใจเพื่อนร่วมทาง ในระบบขนส่งทุกรูปแบบของกระทรวงคมนาคม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนในจังหวัดภูเก็ต พร้อมรองรับการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) ในปี 2563 นี้ และจะสามารถให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงาได้ในปี 2566
นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกหน่วยงานในสังกัด จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ พร้อมจัดบริการและอำนวยความสะดวกทุกโหมด การเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอและต้องปลอดภัย ผ่านการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบาย One Transport ,One Family แนวคิด "ขับช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัด" ในระบบขนส่งทุกรูปแบบการเดินทางที่ต้องเชื่อมต่อกัน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ทั่วไทย ทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ควบคู่กับการควบคุม กำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ของประชาชน "โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต ตลอดเวลาที่ผ่านมามีปัญหาการจราจรที่คับคั่ง ติดขัด ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ผลเสียต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และความสูญเสียทางงบประมาณและการลงทุนอย่างมหาศาลซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากความต้องการการเดินทางของประชาชนตลอดถึงนักท่องเที่ยวที่มีมากเกินกว่าความจุของถนน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเมืองการขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม"
นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้หน่วยงาน ในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเทียบเท่าสากล โดยได้ขับเคลื่อนภูเก็ตสู่การเป็นนครแห่งอันดามัน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่อไป โดยจะเร่งรัดให้มีการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) ในปี 2563 นี้ และจะสามารถให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงาได้ในปี 2566 มีระยะทาง 58.5 กิโลเมตร โดยในช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ถึง ห้าแยกฉลองมี 21 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี, สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต (สถานียกระดับ) 2.สถานีเมืองใหม่ 3.สถานีโรงเรียนเมืองถลาง 4.สถานีถลาง (สถานีใต้ดิน) 5.สถานีอนุสาวรีย์ ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร 6.สถานีเกาะแก้ว 7. สถานีขนส่ง 8.สถานีราชภัฎภูเก็ต 9.สถานีทุ่งคา 10.สถานีเมืองเก่า 11.สถานีหอนาฬิกา 12.สถานีบางเหนียว 13.สถานีห้องสมุดประชาชน 14.สถานีสะพานหิน 15.สถานีศักดิเดชน์ 16.สถานีดาวรุ่ง 17.สถานีวิชิต 18.สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก 19.สถานีป่าหล่าย 20. สถานโคกโตนด 21.สถานีฉลอง และอีก 3 สถานี เป็นสถานีระดับดิน อยู่ในการพัฒนาโครงการระยะที่ 2 นอกเหนือจากขอบเขตที่ รฟม. จะดำเนินการในครั้งนี้ ประกอบด้วย สถานีท่านุ่น สถานีท่าฉัตรชัย และสถานีประตูเมืองภูเก็ต
"และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี พ.ศ.2547 จังหวัดภูเก็ต สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในจังหวัดภูเก็ตขึ้น โดยมีผู้บริหาร สนข. จังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการ ส่วนงานท้องถิ่น ดารานักแสดงพร้อมประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมงาน ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว รวมทั้งให้ตระหนักถึง
ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา" นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช กล่าว
นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จังหวัดภูเก็ตนั้นนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก สร้างรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเฉลี่ยเดือนละมากกว่าหนึ่งล้านคนตลอดทั้งปี ทำให้ปริมาณการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของจังหวัดภูเก็ตที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือระบบขนส่งสาธารณะเกินขีดความสามารถในการรองรับและให้บริการได้ทำให้การเดินทางสัญจรของประชาชนและนักท่องเที่ยว ระหว่างท่าอากาศยานหรือจากจังหวัดพังงา กับแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงในตัวเมืองภูเก็ตต้องใช้ระยะเวลา ในการเดินทางนาน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดภูเก็ต เป็นอย่างยิ่งส่วนเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักของจังหวัดภูเก็ต คือทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งเกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองภูเก็ตยังไม่ได้รับความนิยม และไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดภูเก็ตขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเทียบเท่าสากล โดยได้ขับเคลื่อนภูเก็ตสู่การเป็นนครแห่งอันดามัน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่อไป