กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--เจ.ดี. พาวเวอร์
- แม้ว่าจำนวนปัญหาของรถยนต์โดยรวมจะลดลง เจ้าของรถยนต์กลับรายงานปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบมากขึ้น, ผลการศึกษาวิจัยจาก เจ.ดี. พาวเวอร์
- โตโยต้า, มาสด้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, เชฟโรเลต และฟอร์ด ต่างคว้ารางวัลคุณภาพรถยนต์ใหม่ในแต่ละกลุ่มประเภทรถยนต์
ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2561 โดย เจ.ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power 2018 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) เปิดเผยในวันนี้ว่า ขณะที่จำนวนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์ 100 คัน (PP100) ลดลงเกือบทุกกลุ่มประเภทรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยกลับพบปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบที่เพิ่มขึ้น เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องเสียง, ระบบสื่อสาร, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง (ACEN)
ผลการศึกษาพบว่า จำนวนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์ 100 คัน (PP100) ลดลงมาที่ 70 PP100 ในปี 2561 จาก 83 PP100 ในปี 2560 ซึ่งพบว่าคุณภาพรถยนต์ใหม่ถูกปรับปรุงขึ้นอย่างมากด้านภายนอกตัวรถและด้านเครื่องยนต์ และระบบเกียร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าปัญหาคุณภาพที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิตลดน้อยลงมาอยู่ที่ 44% จากปัญหาที่ถูกรายงานทั้งหมด ในปี 2561 เทียบกับ 61% ในปีก่อน ปัญหาทั้งหมดได้ถูกนำมาสรุปผลเป็นจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนน PP100 ต่ำกว่า แสดงว่ารถยนต์รุ่นนั้นเกิดปัญหาน้อยกว่าหรืออีกนัยหนึ่งคือ รถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า
ผลการศึกษายังพบอีกว่า 51% ของปัญหาทั้งหมดที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบ เป็นปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบ เทียบกับปี 2560 ซึ่งพบเพียง 18% ปัญหาการออกแบบที่พบมากในปีนี้เกี่ยวข้องกับความยากในการใช้งาน ได้แก่ คลื่นวิทยุไม่ชัด หรือไม่มีคลื่น, ที่วางแก้วใช้งานยาก, แอร์ไม่เย็น หรือไม่สามารถคงระดับอุณหภูมิที่ต้องการได้ และเบรกมีเสียงดัง
"ระดับปัญหาคุณภาพที่เกิดจากการผลิตลดต่ำลง รวมถึงคุณภาพในการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์มีความแตกต่างกันน้อยลง เป็นผลมาจากผู้ผลิตรถยนต์มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการผลิตรถยนต์อย่างต่อเนื่อง แม้คุณภาพในการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว ยังมีโอกาสที่ผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ให้ดีมากยิ่งขึ้นได้ด้วยการปรับปรุงคุณภาพในการออกแบบรถยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบปุ่มควบคุมและอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ ที่มีความล้ำสมัย ให้สามารถเข้าใจและใช้งานได้ง่ายขึ้น" ศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทย กล่าว "พนักงานของผู้จำหน่ายมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการอธิบายและสาธิตการใช้งานอย่างละเอียดและครบถ้วนในระหว่างส่งมอบรถยนต์"
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ:
- ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิตยังคงเป็นปัญหาที่พบมากที่สุด: จาก 5 อันดับแรกของปัญหาที่มีการรายงานมากที่สุด พบว่า 3 ปัญหามาจากความผิดพลาดในการผลิต และอีก 2 ปัญหามาจากการออกแบบที่ไม่เหมาะสม โดยปัญหาจากการผลิตที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด คือ ปัญหาเสียงลมดังมากเกินไปจากรอบตัวรถ (5.8 PP100); กลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในห้องโดยสาร (3.2 PP100) และมีเสียงผิดปกติจากช่วงล่าง (1.8 PP100) ส่วนปัญหาการออกแบบที่มีการรายงานมากที่สุด คือ คลื่นวิทยุไม่ชัด หรือไม่มีคลื่น (8.5 PP100) และที่วางแก้วใช้งานยาก (3.9 PP100)
- เจ้าของรถยนต์ใหม่ที่ซื้อรถเป็นครั้งแรกรายงานจำนวนปัญหาน้อยกว่า: ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกรายงานจำนวนปัญหาที่พบน้อยกว่าผู้ที่เคยซื้อรถยนต์มาแล้ว (68 PP100 เทียบกับ 74 PP100 ตามลำดับ)
- คุณภาพของรถยนต์ที่ดี จะช่วยส่งเสริมแบรนด์ให้ดีขึ้น: Net Promoter Score(R)[1] (NPS) เป็นตัววัดแนวโน้มของลูกค้าที่จะแนะนำยี่ห้อและรุ่นรถที่พวกเขาใช้อยู่ให้กับผู้อื่น จากการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนน ในปีนี้คะแนน NPS โดยรวมอยู่ที่ 52 คะแนน โดยกลุ่มเจ้าของรถยนต์ใหม่ที่ให้คะแนน 9 หรือ 10 คะแนนในการที่พวกเขาจะแนะนำยี่ห้อรถที่ตัวเองใช้อยู่ (Promoters) รายงานปัญหาอยู่ที่ 61 PP100 เทียบกับเจ้าของรถยนต์ที่ให้คะแนนเพียง 0 ถึง 6 คะแนน (Detractors) รายงานปัญหาถึง 121 PP100
ผลการจัดลำดับจากการศึกษาวิจัย
- โตโยต้า ยาริส เอทีฟ ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก (62 PP100)
- มาสด้า2 ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (53 PP100)
- ฮอนด้า ซีวิค ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง (54 PP100)
- มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ (63 PP100)
- เชฟโรเลต โคโลราโด เอ็กซ์-แคป ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะตอนขยาย (68 PP100)
- ฟอร์ด เรนเจอร์ ไฮ-ไรเดอร์ ดี-แคป และ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ดี-แคป ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู (63 PP100)
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ 2 กลุ่มปัญหาหลักที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ ได้แก่ กลุ่มปัญหาด้านการออกแบบ และกลุ่มปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต การศึกษานี้ได้เจาะถามถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 8 หมวดหมู่ ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์; ปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่; ปัญหาจากอุปกรณ์, ปุ่มควบคุม และจอแสดงผล; ปัญหาเครื่องเสียง, ระบบสื่อสาร, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง; ปัญหาจากเบาะที่นั่ง; ปัญหาจากระบบทำความร้อน, ระบบระบายอากาศ, ระบบความเย็น; ปัญหาภายในห้องโดยสาร และปัญหาเครื่องยนต์/ ระบบเกียร์
ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย (IQS) ประจำปี 2561 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถยนต์คันใหม่ 5,106 รายที่ซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 74 รุ่น จากทั้งหมด 13 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561
ข้อมูล เจ.ดี. พาวเวอร์ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
เจ.ดี. พาวเวอร์ เป็นผู้นำระดับโลกในการให้บริการด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความพึงพอใจและพฤติกรรมของลูกค้า, ให้บริการที่ปรึกษา และการวิเคราะห์ข้อมูล ความสามารถเหล่านี้ทำให้เจ.ดี. พาวเวอร์สามารถช่วยเหลือลูกค้าของเราในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านความพึงพอใจลูกค้า, เพิ่มการเติบโตของธุรกิจ และความสามารถในการทำกำไร บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1968 เจ.ดี. พาวเวอร์มีสำนักงานอยู่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, เอเชีย แปซิฟิก และยุโรป
ข้อมูลเกี่ยวกับเจ.ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power) และหลักเกณฑ์การโฆษณา/ การส่งเสริมการขายต่างๆ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ www.jdpower.com/business/about-us/press-release-info