กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เผยว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดในฟาร์มเลี้ยงหมูคุณภาพต่ำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด "เชื้อแบคทีเรียดื้อยา" หรือ ซูเปอร์บักส์ (Superbugs) ขึ้น ซึ่งทำให้ยาปฏิชีวนะทำงานไม่ได้ผล ซึ่งผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูง วิกฤติซูเปอร์บักส์ นี้กำลังระบาดทั่วโลกและคร่าชีวิตคนปีละกว่า 700,000 คน
ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรฯ ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย ผลการสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น
การสำรวจดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนหลักฐานที่ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สามในสี่ของยาปฏิชีวนะที่มีในโลกถูกใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยมีการใช้งานมากที่สุดในฟาร์มหมู องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nation) ต่างก็รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน แบคทีเรียดื้อยาในอุตสาหกรรมอาหารเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และอาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้
การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นมักพบในฟาร์มที่มีคุณภาพต่ำที่มีการดูแลสัตว์อย่างโหดร้าย ซึ่งทำให้หมูต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดทั้งชีวิต เช่น:
- ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด
- ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวผู้มักส่วนใหญ่จะถูกจับตอน
- หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง
วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า "องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น"
จากความเป็นจริงที่ว่าสภาพของฟาร์มหมูในระบบอุตสาหกรรม ไม่ต่างจากโรงฆ่าสัตว์ที่ทำให้หมูได้รับความเจ็บปวดและความเครียดเสมือนตายทั้งเป็น จนส่งผลให้เจ้าของฟาร์มต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาอาการผิดปกติเหล่านั้น ทางออกหนึ่งที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เป็นผู้เรียกร้องต่อผู้เจ้าของฟาร์มผลิตเนื้อหมูให้ยกระดับคุณภาพชีวิตของสุกรในฟาร์ม จัดให้มีระบบการดูแลสวัสดิภาพที่ดีขึ้นจะส่งผลให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศสวีเดน
นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า "เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น"
ปัจจุบันองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกกำลังทำงานร่วมกับผู้ผลิตเนื้อหมูเพื่อพัฒนาระบบการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น โดยการนำหมูออกจากคอกมาสู่การเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม รวมถึงการจัดให้มีอุปกรณ์ต่างๆที่ทำให้หมูสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้
มาร่วมกับเราเพื่อเรียกร้องให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต ประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้น ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : wwww.worldanimalprotection.or.th
1. กรุณาติดต่อคุณอรณิศ บุณยประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เพื่อนัดสัมภาษณ์ รับรูปภาพหรือวิดีโอเพิ่มเติม
2. Superbugs เป็นแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ และนับเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพและการพัฒนาของคนบนโลก การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นทำให้เกิด Superbugs และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของหลายล้านคนบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตถึง 700,000 คนต่อปีจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะนี้ และมีแนวโน้มว่าในปี 2050 จะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี
3. จากการวิจัยระดับสากลแก่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่า 8 ใน 10 ของผู้บริโภค (80%) ในประเทศบราซิล ไทย และออสเตรเลียนั้นมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำในสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม
4. นับตั้งแต่การเผยแพร่แคมเปญ "เลี้ยงหมูอย่างใส่ใจ" ในปี 2018 Kroger ซึ่งเป็นเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำมั่นที่จะยกเลิกการขังแม่หมูที่ตั้งครรภ์ภายในปี 2025 และในประเทศไทยเอง Tops Market และ Central Food Hall ก็ได้ให้คำมั่นที่จะยกเลิการขังแม่หมูที่ตั้งครรภ์ภายในปี 2027 เฃ่นกัน
5. ประเทศสวีเดนนับเป็นประเทศแรกที่มีการห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูในปี 1986 และต้องมีใบสั่งแพทย์ในการใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันหรือรักษาโรค ในปี 2015 มีการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในหมูถึง 65% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีการสั่งห้าม พวกเขาได้ยกระดับคุณภาพชีวิตโดย : ให้ลูกหมูได้อยู่กับแม่นานขึ้นก่อนที่หย่านม ทำให้พวกมันแข็งแรง เพิ่มพื้นที่ให้หมูได้ เคลื่อนไหว ทำให้สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ รัฐบาลก็มีส่วนในการกระตุ้นให้มีการสร้างคุณภาพชีวิตขั้นสูง โดยการให้เงินสนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหมูที่มีการดูแลสวัสดิภาพของหมูดีกว่าที่กฎหมายกำหนด ในประเทศสวีเดนนั้นไม่อนุญาตให้ขังหมูในกรงและไม่สามารถตัดหางหมูได้ รวมทั้งยังต้องจัดหาที่นอนให้หมูอีกด้วย
6. รายงานการศึกษาการทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษและไทย) สามารถขอรับได้ที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ขับเคลื่อนโลกเพื่อปกป้องสัตว์มาตลอด 50 ปี เราทำงานเพื่อให้สัตว์มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคส่วนต่างๆ จะมีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันการทำทรมานสัตว์จากการค้าสัตว์ การจับสัตว์ หรือการฆ่าสัตว์ และช่วยปกป้องชีวิตสัตว์รวมทั้งปศุสัตว์ของประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับพวกมันในสถานการณ์ภัยพิบัติ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังช่วยผลักดันผู้มีอำนาจตัดสินใจให้เพิ่มการดูแลปกป้องสัตว์ในนโยบายทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนปกป้องสัตว์และร่วมเปลี่ยนแปลงชีวิตสัตว์ให้ดีขึ้น พบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th