กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
ธนาคารเอชเอสบีซีล่าสุดประกาศเป็นธนาคารต่างชาติชั้นนำในประเทศไทยที่เปิดตัวบริการเรียกเก็บเงินที่เชื่อมโยงทุกช่องทางการชำระเงินรวมเป็นหนึ่งเดียว (Omni-channel collections) อย่างเต็มรูปแบบ โดยร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการรับชำระเงินได้ทุกช่องทางดิจิทัลหลักในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสธุรกิจแก่ลูกค้าบริษัทข้ามชาติและลูกค้าบริษัทในประเทศที่หวังเจาะตลาดไทยที่มียอดผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงติดอันดับโลก
บริการใหม่นี้ช่วยให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าของตนเองผ่านช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย อันรวมถึงบัตรเครดิต การโอนเงินผ่านธนาคาร e-wallet และเงินสด บริการดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้มากขึ้น จากการมีระบบเชื่อมต่อเพื่อรับชำระเงินโดยตรงได้ในจุดเดียว (one direct interface) โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายผู้ให้บริการรับชำระเงินแต่ละรายเพื่อเรียกเก็บเงิน นอกจากนี้ ลูกค้าธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยยังจะได้รับความสะดวกในการมองเห็นรายงานแสดงรายการรับ-จ่ายเงินทั้งหมดได้ในคราวเดียว ซึ่งจะทำให้การทำบัญชีกระทบยอดเงินสะดวกและง่ายดายขึ้น
จากการมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีจำนวนผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ยอดผู้ใช้งานบริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือของประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2561 มีจำนวน 37.9 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น 203 ล้านรายการ หรือเติบโตถึงร้อยละ 123 และมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ ณ เดือนมิถุนายน 2561 คิดเป็นมูลค่า 1,269 พันล้านบาท หรือเติบโตถึงร้อยละ 83 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นางสาวไอ เชน ลิม ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นธนาคารผู้ให้บริการจัดการด้านการเงินระหว่างประเทศสำหรับลูกค้า เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เปิดตัวบริการเหนือระดับที่เชื่อมโยงช่องทางการชำระเงินต่างๆ รวมเป็นหนึ่งเดียว (omni-channel) เพื่อมอบแก่ลูกค้าองค์กรของเรา ซึ่งเป็นการนำแพลทฟอร์มที่ให้บริการในระดับภูมิภาคมาต่อยอด และขยายการให้บริการเรียกเก็บเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile collections) ออกไปยังตลาดอื่น ๆ หลังจากประสบความสำเร็จในการรุกสู่ตลาดจีนไปแล้วก่อนหน้านี้ จากข้อมูลอ้างอิง พบว่า ผู้ใช้งานสังคมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยติดหนึ่งใน 10 อันดับแรกของโลก เราต้องการจะเป็นธนาคารผู้ให้บริการด้านการเรียกเก็บเงินผ่านหลากหลายช่องทางอย่างครบวงจรสำหรับลูกค้าองค์กร"
ด้วยบริการดังกล่าวนี้ นอกจากจะช่วยลูกค้าธุรกิจค้าปลีกเก็บรวบรวมเงินจากช่องทาง e-wallet ต่าง ๆ แล้ว ธนาคารเอชเอสบีซียังช่วยให้ลูกค้ามองเห็นภาพรวมของรายการแสดงการรับ-จ่ายเงินจากทุกช่องทางการชำระเงินทั้งในแบบเอกสารและแบบดิจิทัล ซึ่งจะลดความยุ่งยากจากความจำเป็นต้องเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายหลาย ๆ แห่ง ดังนั้น จึงทำให้ลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียกเก็บเงินของลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกอย่างยั่งยืนด้วย
นางสาวไอ เชน ลิม กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราได้ลงทุนเพื่อมอบบริการพร้อมเพย์สำหรับลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบทันที อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล ภายใต้วาระแห่งชาติตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยบริการพร้อมเพย์และระบบที่เชื่อมโยงช่องทางการชำระเงินต่างๆ เป็นหนึ่งเดียว ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ล่าสุดนี้ เรามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อลูกค้าที่กำลังต้องการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานและด้านการเงิน และสร้างความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำตลาดด้านการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล"
ในช่วงปี 2558-2563 ธนาคารเอชเอสบีซี มีการใช้งบประมาณลงทุน จำนวน 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปรับเปลี่ยนบริการของธนาคารเข้าสู่ระบบดิจิทัลในธุรกิจรายย่อยและบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและธุรกิจบริหารเงินและตลาดทุนในเครือข่ายสาขาทั่วโลก และเมื่อเร็วๆ นี้ยังได้เปิดตัวบริการด้านนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เพื่อให้ธนาคารสามารถมอบบริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และปลอดภัยยิ่งขึ้น ปัจจุบันธนาคารเอชเอสบีซี เป็นสถาบันทางการเงินที่นำเทคโนโลยีไบโอเมตทริกซ์มาใช้รายใหญ่ที่สุดในระดับโลก และเตรียมจะเปิดตัวเทคโนโลยีจดจำด้วยเสียง (voice recognition) และเทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือ (fingerprint technology) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในเครือข่ายสาขาทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในประเทศไทย ธนาคารเอชเอสบีซี มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สนับสนุนแนวคิดริเริ่มของหน่วยงานกำกับดูแล ตลอดจนตอบสนองความต้องการที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในระบบนิเวศน์ทางการเงินของลูกค้าธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคาร เอชเอสบีซี ยังมีบทบาทเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือโครงการอินทนนท์อีกด้วย
1. ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เปิดสำนักงานให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2431 ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดให้บริการด้านการเงินและการธนาคาร ทั้งบริการด้านเงินฝาก สินเชื่อธุรกิจ พาณิชย์ธนกิจ ธุรกิจสถาบันการเงิน บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน บริการหลักทรัพย์ บริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่องแก่ลูกค้าประเภทองค์กร
2. เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มเอชเอสบีซี มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลุ่มเอชเอสบีซีให้บริการลูกค้าทั่วโลกด้วยเครือข่ายสาขาประมาณ 3,800 แห่งใน 66 ประเทศและเขตปกครองทั้งในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เอชเอสบีซี เป็นสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงินและการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีสินทรัพย์รวม 2,603 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 30 กันยายน 2561)