กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
เริ่มประชุมเวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมวชิราวุธ กระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าวต้อนรับ Mr.Taha Macpherson เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย, Professor Nigel Hemmington Pro Vice-Chancellor Auckland University of Technology และ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และทีมงาน ผู้ติดตามทุกท่าน พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่ทั้ง 2 ประเทศตกลงที่จะสร้างความร่วมมือกันทางด้านการศึกษาในระดับสูง ถึงขึ้นที่จะเปิดสถาบันร่วมกันในประเทศไทย
รมช.ศึกษาธิการ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ภายใต้มาตรา 44 ประเทศไทยมีความยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งศูนย์การศึกษานี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและมีเป้าหมายที่จะยกระดับธุรกิจในประเทศไทยให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจระดับโลก ด้วยที่มีความได้เปรียบทางกายภาพในหมู่ประเทศ CLMVT ซึ่งทางเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ก็ได้กล่าวสนับสนุนตอบรับแนวคิดของ รมช.ศึกษาธิการด้วย
จากนั้น Professor Nigel Hemminton ได้กล่าวว่า AUT นั้นถูกจัดอันดับล่าสุดอยู่ใน Top 500 ของโลก (อันดับ 350) และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี ซึ่งมีประวัติความเป็นมาคล้ายคลึงกัน รวมไปถึงการยกระดับการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีการอนุญาตจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภายนอกประเทศ รวมถึงการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ของ AUT อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย ซึ่งทาง AUT ได้เล็งเห็นถึงเป้าหมายในระยะยาวในการที่จะให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของ AUT ภายในเขตภูมิภาคอาเซียน (ASEAN hub) อีกด้วย
ทางด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างประเทศในประเทศไทยได้ โดยมุ่งเน้นสาขาวิชาภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการจัดอันดับของสาขาวิชานั้นอยู่ในลำดับไม่เกิน 100 ของโลก ก็สามารถเข้ามาจัดตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรืออาจจะมีการเรียนการสอนอยู่นอกสถานที่บ้าง แต่มีการเข้าไปฝึกงาน หรืออบรมการปฏิบัติงานในสถานประกอบการจริงในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50% ของชั่วโมงการเรียนการสอนทั้งหมดก็สามารถกระทำได้ โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหมดเหมือนกับที่ AUT ใช้สอนที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถ้าผ่านเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตตามเกณฑ์ที่กำหนด AUT จะนับเป็นมหาวิทยาลัยต่างประเทศแห่งที่ 4 ที่ทำการเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย
ต่อมา ที่ประชุมได้มีการหารือกันและได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การดำเนินการในระยะแรกควรเน้นในเรื่องของการพัฒนาภาษาอังกฤษ และการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกก่อน เพราะสามารถกระทำได้อย่างมีรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมาก อีกทั้งการให้การฝึกอบรมในระยะสั้น ระหว่าง 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็เป็นที่ต้องการของแรงงานในประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพแรงงานในประเทศไทยสู่ระดับกลางและสูงต่อไปในอนาคต โดยจุดเริ่มต้นมุ่งเน้นไปที่สาขาวิชาที่สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นสาขาที่ AUT ได้รับการจัดลำดับอยู่ระดับต้นๆของโลก ได้แก่
- Business and Management
- Accounting and Finance
- Tourism and Hospitality
- Engineer
- Art and Design
โดยทาง มทร.ธัญบุรี ได้มีเตรียมความพร้อมทางด้านสถานที่จัดตั้งศูนย์พัฒนาภาษาอังกฤษไว้เบื้องต้นแล้ว ณ อาคาร DD Mall เขตจตุจักร โดยขณะนี้ทาง มทร.ธัญบุรี กำลังเตรียมการพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการศูนย์ฯดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะจัดทำข้อสอบวัดระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ ที่จะสามารถใช้วัดระดับภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การไปศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์อีกด้วย โดยมีแผนการที่จะเปิดให้บริการจัดการเรียนการสอนในเดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นไป