กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 8 อำเภอ 77 ตำบล 670 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 85,004 ครัวเรือน 246,071 คน ผู้เสียชีวิต 6 ราย ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 15 – 23 ธันวาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และตรัง รวม 43 อำเภอ 264 ตำบล 1,922 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 211,583 ครัวเรือน 612,307 คน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 8 อำเภอ 77 ตำบล 670 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 85,004 ครัวเรือน 246,071 คน ผู้เสียชีวิต 6 ราย ได้แก่ นครศรีธรรมราช ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 7 อำเภอ รวม 75 ตำบล 657 หมู่บ้าน 105 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 83,504 ครัวเรือน 224,211 คน ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอชะอวด อำเภอปากพนัง อำเภอสิชล และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปัจจุบันระดับน้ำสูงประมาณ 0.10 – 0.40 เมตร ส่วนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำในอำเภอกาญจนดิษฐ์ รวม 2 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,500 ครัวเรือน 1,860 คน ปัจจุบันระดับน้ำสูงประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร ทั้งนี้ ปภ. โดยศูนย์ ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับจังหวัด ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย สนับสนุนการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงได้การดูแลชีวิตความเป็นอยู่และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น นอกจากนี้ ได้กำชับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลานแล้วให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป