ฟิทช์ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AA-(tha)’ แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารกรุงไทย

ข่าวทั่วไป Monday May 9, 2005 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารกรุงไทย (KTB) มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15 พันล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ด้อยสิทธินี้มีอายุ 10 ปี ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ ได้คงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ และระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตของ KTB ได้สะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ การปรับโครงสร้างองค์กร และการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ในอนาคต ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่ออันดับเครดิตของธนาคาร แม้ว่าการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB หากพิจารณาแต่พื้นฐานของธนาคารเองโดยปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาล ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มที่อาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ ในขณะที่การจัดชั้นหนี้ใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2547 แสดงถึงประเด็นของฟิทช์ต่อบทบาทของ KTB ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ แต่ผลกระทบในด้านผลกำไรและเงินกองทุนของธนาคารยังไม่ปรากฎว่ามีนัยสำคัญ ณ ปัจจุบัน
KTB มีกำไรสุทธิในปี 2547 อยู่ที่ 11.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 8.7 พันล้านบาทในปี 2546 เนื่องมาจากกำไรพิเศษจากเงินปันผลของกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งเป็นกองทุนที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลไทย การเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง ต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำลง ผลกำไรจากการลงทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ มาตรการที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งผลกระทบให้การเติบโตของสินเชื่อลดลงเป็น 15% ในปี 2547 จากระดับสูงที่ 30% ในปี 2545 และ 2546
อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยของ KTB ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.87% ในปี 2547 จาก 2.16% ในปี 2546 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อ อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ย ยังเพิ่มขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงการลงบัญชีเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขมาเป็นรายได้ดอกเบี้ย จากเดิมที่เคยลงบัญชีเป็นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของ ปี 2547 เป็นต้นมา KTB รายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2548 ที่ 4.3 พันล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจาก 5.2 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2547 (อันเนื่องมาจากผลกำไรจากการลงทุนที่ลดลง และภาษีเงินได้ที่สูงขึ้น) แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานหลักของธนาคารอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการของธนาคารน่าจะดีขึ้นในปี 2548 จากรายได้ที่แข็งแกร่งขึ้น และการกันสำรองที่ลดลง แม้ว่าจะมีการคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อว่าน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง
หลังจากปรับตัวเลขสินเชื่อของ KTB โดยไม่รวมตั๋วสัญญาใช้เงินจากรัฐบาล หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ณ สิ้นปี 2547 อยู่จำนวน 123.3 พันล้านบาท หรือ 14.5% ของสินเชื่อทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 82.9 พันล้านบาท หรือ 11.2% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นปี 2546 ซึ่งเป็นผลมาจากเกณฑ์การจัดชั้นที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่การจัดชั้นสินเชื่อใหม่ยังไม่มีผลกระทบในทันทีต่อผลกำไรของ KTB เนื่องจากบางส่วนของเงินสำรองทั่วไปได้ถูกโอนไปเป็นเงินสำรองสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับการกันสำรองหนี้สูญได้ลดลงมาเหลือเพียง 51.4% จาก 71.8% ณ สิ้นปี 2546 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นและชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ทางธนาคารอาจต้องมีการกันสำรองเพิ่มเติม ธนาคารกำลังดำเนินการปรับปรุงระบบการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงนโยบายการกันสำรองทั่วไป ซึ่งน่าจะช่วยลดความกังวลดังกล่าว ณ สิ้นปี 2547 อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ KTB อยู่ที่ 8.2% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่อัตราเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 10.9% การฟื้นตัวของรายได้น่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของเงินกองทุน ถึงแม้ว่าถ้าการเติบโตของสินทรัพย์ที่สูงอย่างต่อเนื่องอาจสร้างแรงกดดันให้กับความเพียงพอของเงินกองทุนของ KTB ใน 2 ปีข้างหน้า
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall,ฮ่องกง
+852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ