กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 43 - 48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 51 - 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 - 28 ธ.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะปรับตัวลดลง จากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดและอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลง จากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตรายใหญ่ในเดือน ธ.ค. อยู่ในระดับสูง และแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียคาดจะกลับมาดำเนินการเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปีหน้าของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและอากาศยานในช่วงฤดูหนาวที่ปรับสูงขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง จากแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจจีนและยุโรปค่อนข้างซบเซา ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังธนาคารกลาง (เฟด) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.5 โดยเฟดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับดี และไม่จำเป็นจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากเฟดในการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ
- อุปทานน้ำมันดิบโลกคาดปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดว่าแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง เนื่องจาก นายกรัฐมนตรีลิเบียสามารถตกลงกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธได้สำเร็จ หลังกองกำลังติดอาวุธเข้าบุกยึดแหล่งผลิตน้ำมันดิบดังกล่าว ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 315,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ยกเลิกการส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตนี้ ทั้งนี้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ยังไม่เริ่มกลับมาดำเนินการในขณะนี้ เนื่องจาก แหล่งผลิตยังไม่ได้รับคำสั่งจากบริษัทแห่งชาติของลิเบีย
- ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด หลังประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ประกอบด้วย สหรัฐฯ รัสเซีย และ ซาอุดิอาระเบีย ยังคงระดับการผลิตอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปริมาณการผลิตสูงสุดของแต่ละประเทศ โดยกำลังการผลิตของรัสเซียในเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 10.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงสถิติการผลิตสูงสุดในเดือน ต.ค. 61 ที่ระดับ 11.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) จะปรับเพิ่มขึ้น แตะระดับ 8 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปีนี้ และอาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.73 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. 62
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังกลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตในปีหน้าลงรวม 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค. 61 เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบและลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลก โดยซาอุดิอาระเบีย หวังว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจะลดลงภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 ในขณะที่ รัฐเซียยืนยันที่จะปรับลดกำลังการผลิตในช่วงไตรมาสแรกลง 228,000 บาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นคงอัตราการกลั่นที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลและอากาศยานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลและอากาศยานปรับตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ม.ค. 46 อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังอาจลดลงไม่มากนัก หลังสหรัฐฯ ขยายท่อขนส่ง Sunrise ใน West Texas ตั้งแต่เดือน พ.ย. 61
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ และดัชนีสัญญาการซื้อบ้านที่รอการปิดขายจากสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 - 21 ธ.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 5.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 6.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับธนาคารกลาง (เฟด) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เป็น ร้อยละ 2.5 ซึ่งอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงและความต้องการใช้น้ำมันลดลง และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 497,000 บาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงถึง 2.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุน จากข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก