กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ นำพันธมิตรทั้งบริษัทสื่อสารและบริการอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ผู้ผลิตชิปเซ็ท 5G กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และ กสทช. ลงพื้นที่จริงของสนามทดสอบ 5G (5G Testbed) สมบูรณ์แบบ ในพื้นที่อีอีซี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา สร้างความร่วมมือในรูปแบบ 5G Integration ประกาศความพร้อมเดินหน้าการทดสอบ เริ่ม มกราคม 2562
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า "จากการที่กระทรวงร่วมกับ กสทช. ได้นำภาคเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G รายสำคัญของโลก ได้แก่ หัวเว่ย อีริคสัน โนเกีย และ Dassault Systemes ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเทคโนโลยี 3 มิติจากฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ โดยผู้ผลิตอุปกรณ์ทุกรายได้คัดเลือกจุด ที่จะนำอุปกรณ์ของตัวเองเข้ามาติดตั้งสำหรับการทดสอบการใช้งาน 5G (Use Cases) อาทิ Tele Medicine, Smart Manufacturing, Smart Bus ตลอดจน Autonomous Vehicle เป็นต้น จะทยอยดำเนินการตั้งแต่มกราคม 2562 เป็นต้นไป และเพื่อให้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ในรูปแบบ 5G Integration อย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้นำผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหลักของไทย ได้แก่ AIS , DTAC , True , TOT และ CAT พร้อมกับ Intel ผู้ผลิตชิปเซ็ตชั้นนำ และ ZTE อีกหนึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G รายสำคัญ ลงพื้นที่จริงเพื่อการพัฒนาสนามทดสอบ 5G (5G Testbed) สมบูรณ์แบบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา"
"กระทรวงดิจิทัลฯ มีบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับการทดสอบการใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบ การเป็นผู้รับรองอุปกรณ์ที่จะนำเข้ามาติดตั้งว่าเป็นไปเพื่อกการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถนำอุปกรณ์เข้ามาได้โดยสะดวก ล่าสุด ยังประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ใน 5G Testbed แห่งนี้ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานจัดสรรคลื่นทดสอบ โดยขอไป 2 ย่านความถี่ ได้แก่ ย่าน 3.5 GHz และ 26 GHz ตามที่เอกชนเสนอความต้องการมา" ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมว่า โครงการทดสอบการใช้งาน 5G เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ระหว่างรอ 5G ระดับสากลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งประกาศมาว่าจะสมบูรณ์ในปี 2563 ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมเมื่อถึงเวลาการใช้จริงในอนาคต อันจะทำให้เกิดการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งสร้างความตื่นตัวให้กับผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ประโยชน์อีกด้วย
ปัจจุบันเอกชนที่แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือกลุ่มการจัดหาและให้บริการ และ 2.ผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งก็คือกลุ่มที่จะขายอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งโครงข่ายให้บริการ
จากการที่ภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการลงพื้นที่เพื่อผลักดันเพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ 5G จะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูล ดีกว่า 4G ถึง 20 เท่า มีความล่าช้าของการรับส่งข้อมูลต่ำมาก (Latency time) ดีกว่า 4G ถึง 10 เท่า ในขณะเดียวกันสามารถรองรับอุปกรณ์สื่อสารได้ถึง 1 ล้านอุปกรณ์ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เมืองอัจฉริยะ และการใช้ชีวิตยุคใหม่ ตลอดจนการช่วยสร้างนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G โดยได้หารือกับคณะทำงานฯ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์ สำนักงาน กสทช. สำนักงาน EEC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยในการประชุม ได้สรุปถึงแนวทางความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
(1) ร่วมดำเนินการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในภาคสนาม (Field trials) ที่รองรับการทดสอบแบบ end to end และการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน บนหลักการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการเปิดรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันทดสอบใช้งาน (Use Cases) ที่เหมาะสมและคาดว่าจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย โดยเร็ว อาทิ การทดสอบ 5G สำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ด้านสุขภาพ และการขนส่ง เป็นต้น
(2) สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G (Testbed) ในพื้นที่ EEC ทั้งในรูปแบบการร่วมทดสอบ ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มีสถานที่ตั้งโครงสร้าง 5G มีห้องปฏิบัติการ และมีบุคลากรทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา และเป็นสถานที่ตั้งใน EEC ที่เหมาะสมในการทดสอบ 5G ครั้งใหญ่นี้