กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กทม.
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เฆมวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยาย เรื่อง พระบรมราชวินิจฉัยและโครงการพระราชดำริในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางกายภาพของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถาชุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการพัฒนากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีนักศึกษาและประชาชนที่สนใจร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริอันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต่างๆ มากมาย ทรงเป็นนักวางแผนพัฒนาที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการวางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมือง โดยทรงมีสายพระเนตรเห็นการณ์ไกล ถึงความจำเป็นในการกระจายความเจริญจากนครหลวงสู่ภูมิภาค ทรงคิดค้นการวางแผนและแสวงหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทรงรอบรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาทุกด้าน เช่น ความเหมาะสมของแหล่งที่ตั้งชุมชนทางภูมิศาสตร์ ลักษณะที่ดิน ทรัพยากรน้ำ ความเป็นไปได้ในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ด้วยพระอัจฉริยภาพอันล้ำเลิศทำให้เกิดเป็นแนวทางพระราชดำริในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้กรุงเทพมหานครประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี เพราะมีพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายฟองน้ำ กรุงเทพมหานครจึงมีโครงการสร้างคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน การจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้น การสร้างทางด่วน และทางยกระดับ เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการจัดการน้ำเสียตามโครงการ 80 คลองใส ถวายพระเจ้าอยู่หัว และการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือก
นอกจากนี้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาต้องรู้จักสภาพธรรมชาติโดยรวม มีการพัฒนาทางกายภาพอย่างเป็นระบบ ประหยัด พึ่งพาตนเองได้ โดยการนำเทคนิควิทยาและทฤษฎีการพัฒนามาใช้อย่างเหมาะสม และคิดค้นวิธีการพัฒนา แก้ไขปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป