กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--Mice&Communication
กลายเป็นกระแสโลกไปแล้วสำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ดังนั้น งานวิ่งเพื่อสุขภาพจึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย โดย รศ.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด เผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอีเวนต์งานวิ่งมากถึง 700-800 งาน ส่วนในปีนี้มีงานวิ่งที่จัดขึ้นแล้วทั่วประเทศราว 900-1,000 งาน และคาดว่าเมื่อจบปี 2561 จะมีงานวิ่งที่จัดให้คนรักสุขภาพได้ร่วมเก็บเหรียญและสถิติแห่งความภาคภูมิใจไม่น้อยกว่า 1,200 งาน เท่ากับว่าประเทศไทยจัดงานวิ่งเดือนละ 100 งาน หรือเฉลี่ยวันละ 3 งาน เลยทีเดียว ตัวเลขที่เติบโตนี้กล่าวได้ว่าเกือบร้อยละ 100
เมื่อออกวิ่งเพราะต้องการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้น การวิ่งที่ดีและการจัดงานวิ่งที่ดีควรคำนึงถึง "สุขภาพที่ปลอดภัย" เป็นหลัก เนื่องจากสถิติการจัดงานวิ่งในระดับฮาล์ฟ มาราธอน (Half Marathon) จะพบนักวิ่งบาดเจ็บและเจ็บป่วยขั้นรุนแรงเสี่ยงต่อชีวิตเฉลี่ย 1-3 ราย/งาน และบาดเจ็บ เจ็บป่วยไม่รุนแรง เช่น ข้อเท้าพลิก กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ปวด ประมาณร้อยละ 5-10 ส่วนระดับไมโคร มาราธอน (Micro Marathon) และมินิ มาราธอน (Mini Marathon) จากสถิติพบนักวิ่งบาดเจ็บและเจ็บป่วยขั้นรุนแรงเสี่ยงต่อชีวิตเฉลี่ย 0-1 ราย/งาน และบาดเจ็บ เจ็บป่วยไม่รุนแรงประมาณร้อยละ 3-5
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สุทิน จันทิมา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมทั่วไป หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นหนึ่งสาเหตุหลักที่อาจทำให้นักวิ่งหรือผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยขณะวิ่งจนถึงแก่ชีวิตได้ เพราะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ จากสถิติของผู้ที่รับการตรวจหัวใจ พบว่าร้อยละ 70-80 มีปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เช่น หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิวจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจขัดข้อง หัวใจบล็อกไม่นำส่งกระแสไฟฟ้า
"อยากแนะนำให้กลุ่มคนที่วิ่งเป็นประจำหรือรันเนอร์ เลิฟเวอร์ รวมถึงคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายแบบหนักๆ ให้เข้ารับการตรวจหัวใจและเช็คร่างกายก่อนลงสนาม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัลตราซาวนด์หัวใจ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) และเดินสายพาน หากเป็นวัยรุ่น การตรวจเช็คเพียง 1 ครั้ง ก็การันตีความปลอดภัยไปได้หลายปี ส่วนกลุ่มสูงวัยอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็ค 1-2 ปี/ครั้ง และถ้าเป็นกลุ่มที่หัวใจมีปัญหาควรตรวจเช็คทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากหากขณะออกกำลังกายแล้วหัวใจหยุดเต้น ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ผู้ป่วยจะอยู่ได้เพียง 4-5 นาที หากนานกว่านั้นและทำ CPR หรือปั๊มหัวใจไม่ทัน แม้จะนำส่งโรงพยาบาลและกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นได้ แต่สมองจะตายและกลายเป็นเจ้าชายนิทราในที่สุด" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมทั่วไป หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ระบุ
นพ.สุทิน กล่าวต่ออีกว่า อีกโรคหนึ่งที่นักวิ่งและคนที่ชอบออกกำลังกายควรระวังคือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ ต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์ถึงจะเจอเช่นกัน ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยอาจเป็นอัมพฤก อัมพาต ได้
ขณะที่ นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ในฐานะผู้อำนวยการด้านการแพทย์ (Medical Director) งานวิ่งบางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018 (Bangsaen21 The Finest Running Event Ever 2018) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมความปลอดภัยสำหรับการวิ่งเพื่อสร้างสุขภาวะ ไม่ใช่แค่ที่ตัวนักวิ่งเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจหลักอีกประการ คือต้องเตรียมงานบริการทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน โดยในงานวิ่งบางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018 ที่ผ่านมา ทีมงานได้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับงานนี้อย่างเต็มที่ ทั้ง แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน อาสาสมัครทีมนักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย รวมกว่า 300 คน จัดจุดให้บริการทางการแพทย์ทุก 2 กม. ตลอดระยะทาง 21 กม. และเพิ่มความถี่ในช่วงใกล้เส้นชัยเป็น 13 หน่วยบริการทางการแพทย์ ยังมีทีมจักรยานที่พกพาเครื่องกระตุ้นหัวใจดูแลนักวิ่งทุกๆ 4 กม. และแพทย์นักวิ่งอาสาที่วิ่งปนไปกับนักวิ่งอื่นๆ อีก 10 คน รถกู้ชีพอีก 10 คัน รวมถึงมีศูนย์บัญชาการทางการแพทย์ที่เทียบได้กับโรงพยาบาลขนาดย่อมอีก 1 แห่ง ซึ่งการเตรียมการทั้งหมดในงานนี้ เข้มข้นมากกว่ามาตรฐานที่ทางสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations) หรือ IAAF ระบุไว้
นพ.เกษม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก่อนสมัครเข้าร่วมงาน นักวิ่งทุกคนต้องตอบคำถามและกรอกรายละเอียดสุขภาพของตัวเองตามจริง หากใครเข้าข่ายมีภาวะไม่ปกติ ทีมงานจะคัดกรองและแยกกลุ่มไว้ โดยก่อนวิ่งจะมีการตรวจสุขภาพและตรวจหัวใจผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงว่าพร้อมหรือไม่ และในส่วนของผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจจะมีอุปกรณ์สัญญาณ GPS ให้ติดตามตัว และสามารถกดเรียกเจ้าหน้าที่กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทันที
"ที่เตรียมความพร้อมไว้ขนาดนี้ เพราะเล็งเห็นถึงชีวิตของนักวิ่งเป็นสำคัญ มาวิ่งแล้วต้องได้สุขภาพกลับไป ไม่ใช่เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งภายในงานก็มีนักวิ่งไมโคร มาราธอน ที่เกิดภาวะผิดปกติใกล้เส้นชัย แต่ทีมแพทย์และอาสาสมัครก็เข้าชาร์จได้ทันเวลา เราจึงภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพในงานวิ่งครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่สูงที่สุดในประเทศไทยแล้ว และเทียบกับระดับโลกได้เลยทีเดียว" ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ (Medical Director) งานวิ่งบางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018 กล่าว.