กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น
จังหวัดลพบุรี โดยกรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดลพบุรี สานแนวคิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ลดปัญหาความเหลื่อมทางสังคม มุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น เดินหน้าโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถขายได้และเป็นที่ต้องการของตลาด ดึงเสน่ห์ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในท้องถิ่น สร้างอัตลักษณ์ให้สินค้ามีความโดดเด่น เชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน วางเป้าหมาย 34 หมู่บ้าน ในจังหวัดลพบุรี สู่การสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน เสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า "รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มุ่งเน้นสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง พัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และมีคุณภาพ สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ลพบุรี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งมีชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจหลายชุมชน สามารถเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ในแต่ละปีจังหวัดลพบุรีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านคน สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยล่าสุดจะมีการจัดงานเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และงานมหกรรมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในเดือน มกราคม ๒๕๖๒ และกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านท่องเที่ยวจากทุกอำเภอมาแสดงและจัดจำหน่าย
เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านยุคการผลักดันการขายสินค้า OTOP ออกจากชุมชน สู่การสร้างรายได้ ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) โดยการขายสินค้าอยู่ในชุมชน ที่มาจากการท่องเที่ยว โดยใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ ทั้งนี้ ครอบครัวและลูกหลานยังอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องแข่งขันนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายนอกชุมชน เป็นชุมชนท่องเที่ยว ที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งมีการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระดับชุมชน ที่มีเสน่ห์ ดึงดูด และมีคุณค่าเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน และใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ขณะนี้ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ลพบุรี ทั้ง ๓๔ หมู่บ้าน มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว โดยจะให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ประชาสัมพันธ์ และการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
นายพีรพงษ์ นุชรักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลพบุรี ให้แนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดลพบุรีว่า "จังหวัดลพบุรีมีชุมชนที่น่าสนใจ อยู่จำนวนมาก มีความโดดเด่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เราให้ชุมชนมีบทบาทในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวของตนเอง โดยมีหน่วยงานต่างๆ เป็นพี่เลี้ยง ให้ความสำคัญกับการให้บริการในฐานะเจ้าบ้านที่ดี และพัฒนายกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ เราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวชุมชน สร้างการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวของเมืองหลัก และเมืองรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดต่างๆ ในกลุ่มจังหวัดตอนบน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรีให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น"
นายวินัย พันธุ์อยู่ พัฒนาการจังหวัดลพบุรี ให้รายละเอียดถึงการจัดงานเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และงานมหกรรมชุมชนท่องเที่ยว ว่า "การจัดงานส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของจังหวัดลพบุรี จะจัดขึ้น ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เป็นงานเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในวันที่ ๙-๑๓ มกราคม ๒๕๖๒ ณ หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี โดยให้หมู่บ้านเป้าหมายอำเภอละ ๑ หมู่บ้านแสดงนิทรรศการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นอกจากนี้ยังมีการประกวดร้องเพลง การประกวด "หนูน้อย นวัตวิถี" และมีการแสดงดนตรีทุกวัน ส่วนครั้งที่ ๒ เป็นงานมหกรรมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยจะจัดระหว่างวันที่ ๒๘ มกราคม - ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การค้า เซ็ลทรัลเวสท์เกต จังหวัดนนทบุรี โดยจะมีนิทรรศการด้านการท่องเที่ยวชุมชน การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของหมู่บ้านเป้าหมาย และผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีคุณภาพของจังหวัดลพบุรี
นายบุรินทร์ สิงโต ผู้นำชุมชน บ้านนิคม ๓ ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี) กล่าวทิ้งท้ายถึงความตื่นตัวของชุมชนต่อโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีว่า "ประชาชนในหมู่บ้านมีเห็นความสำคัญ และให้ความร่วมมือในจัดการด้านการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ได้เรียนรู้และพัฒนาการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการจัดตลาดนัดชุมชนซึ่งประสบความสำเร็จ มีนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชม และซื้อสินค้าของชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และพี่น้องประชาชนเข้ามาเยี่ยมชม และอุดหนุนสินค้าของชุมชน ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้เข้มแข็งต่อไป