กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์หอมหัวใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพบว่ามีการปลูกหอมหัวใหญ่ที่อำเภอตาคลี ตำบลพรมนิมิต และตำบลช่องแค ซึ่งหอมหัวใหญ่เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้น โดยเกษตรกรจะปลูกในช่วงฤดูแล้ง หลังจากเก็บเกี่ยวพืชไร่ มีการเตรียมดินเพื่อเพาะกล้าและเริ่มปลูกลงแปลงในเดือนพฤศจิกายน ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 60 - 90 วัน ซึ่งผลผลิตหอมหัวใหญ่จังหวัดนครสวรรค์ จะเก็บเกี่ยวชุดแรกต้นเดือนมกราคม 2562 โดยจะออกสู่ตลาดมากที่สุดเดือนมีนาคม และเก็บเกี่ยวหมดในเดือนเมษายน 2562
จากการติดตามโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) ถึงสถานการณ์ผลผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2561/62 (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2561) พบว่า จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 684 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 11 ผลผลิตรวมประมาณ 2,623 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 11 โดยผลผลิตเฉลี่ย 3,835 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากที่ผ่านมาสภาพอากาศมีฝนตกชุก ส่งผลให้หัวพันธุ์บางส่วนได้รับความเสียหาย และเกิดโรคหอมเลื้อย เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลง
สำหรับผลผลิตหอมหัวใหญ่ของจังหวัด จะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2562 ประมาณ 1,618 ตัน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาผันผวน เกษตรกรควรปรับวิธีการปลูกโดยแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นการปลูกแบบหอมเซท (การเก็บหัวแห้งขนาดเล็กเพื่อใช้ปลูกในฤดู) เนื่องจากการปลูกโดยใช้หอมเซทจะเก็บเกี่ยวและให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกแบบเพาะกล้า ซึ่งในขณะนี้จังหวัดนครสวรรค์มีสัดส่วนการปลูกแบบหอมเซทประมาณร้อยละ 25
ด้านนางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการ สศท.12 กล่าวเสริมว่า ช่วงนี้การเจริญเติบโตหอมหัวใหญ่ อยู่ในช่วงลงหัว ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อน และมีฝนตก อาจทำให้หัวโตช้า และบางส่วนเสียหายจากโรคหอมเลื้อย (Collectotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc) ซึ่งจะระบาดในแปลงปลูกที่มีความชื้นสูง อาจทำให้การระบาดของโรคหอมเลื้อยมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายได้ เกษตรกรควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยโรคหอมเลื้อยหอมหัวใหญ่ จะพบโรคบริเวณโคนใบ หรือระดับกอดิน ทำให้ใบ ลำต้น โค้งงอ หักพับ ต้นเอนเลื้อย การป้องกัน กำจัด และลดการแพร่กระจายให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงเมื่อพบโรคให้เก็บต้นหรือใบที่เป็นโรคออกทำลาย และฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช สามารถสอบถามข้อมูลการดูแลและป้องกันกำจัดได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ในพื้นที่ หรือขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 โทร. 0 5680 3525 หรือ อีเมล zone12@oae.go.th