กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สสอน.
สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มุ่งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านโครงสร้างและการทำงานของสมอง มาเป็นฐานในการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เต็มตามศักยภาพของสมอง หรือ กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Brain Based Learning (BBL) ออกเผยแพร่ สู่สาธารณะรับเทศกาลวันเด็กแห่งชาติ ปี 2551 โดยจัดงานเสวนาในหัวข้อ “หลากหลายแนวคิดเพื่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย” ในวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2551 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียง ได้แก่ 1) อาจารย์ประชุม นิ่มหนู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งแยงนอก จังหวัดเชียงใหม่ 2) ดร.สกล ธีระวรัญญู ผู้ชำนาญการออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3) อาจารย์สุภัคศรี เวศม์วิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของเล่นและการเรียนรู้ของเด็ก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4) อาจารย์แทนไท ประเสริฐกุล นักศึกษาปริญญาเอก สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย 5) ดารารับเชิญคุณผัดไท นิลุบล อมรวิทวัส และครอบครัว
นอกจากนี้ สสอน. ยังได้มอบของขวัญวันเด็กให้กับเด็กและเยาวชนไทย โดยนำ โครงการคาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง ออกให้บริการคุณหนูๆ พร้อมคัดสรรกิจกรรมสุดพิเศษ ใน กิจกรรมสวนเสริมสมอง ซึ่งจำลองของเล่น วิธีการเล่น ตามกระบวนการ BBL หรือสอดคล้องกับพัฒนาการและการทำงานของสมองเด็กในแต่ละ ช่วงวัย ให้มีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสมอง ที่จัดแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้ ของเล่นในสวน หนังสือและดนตรีในสวน ร้านเสริมสมอง และรถคาราวานเพื่อนหนูคู่สมอง ในระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2551 ในงาน Thailand Toys and Hobbies Show 2008 บริเวณฮอลล์ 1 - 4 อิมแพค เมืองทองธานี
อาจารย์ประชุม นิ่มหนู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งแยงนอก จ.เชียงใหม่ กล่าวถึง การนำแนวคิดของกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ BBL มาพัฒนาสนามเด็กเล่นของโรงเรียน จนประสบผลสำเร็จว่า “โรงเรียนเป็น 1 ใน 12 โรงเรียน ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการวิจัยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Brain-based Learning ของ สสอน. จึงได้ปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในห้องเรียนและบริเวณรอบโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กตามแนวคิด BBL สำหรับในบริเวณโรงเรียน ได้ปรับให้เป็นสนามเด็กเล่นเสริมสมอง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ธรรมชาติหรือของใช้แล้ว เช่น นำยางรถยนต์ ยางรถมอเตอร์ไซค์ ไม้ไผ่ ฯลฯ มาผูกมัดดัดแปลง ให้เป็นอุปกรณ์การเล่น สำหรับเด็กได้ปีน ป่าย กลิ้ง โหน มุด ลอดอย่างอิสระ และมีความหลากหลาย เพื่อให้เด็กได้พัฒนาสมองส่วนต่างๆ ให้มากที่สุด และเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจก่อนเข้าสู่ห้องเรียน
ซึ่งจากการติดตามผลการวิจัยที่ผ่านมา พบว่า นอกเหนือจากการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนตามแนวคิด BBL แล้ว การได้เล่นเครื่องเล่นสนามด้วยกัน มีส่วนช่วยให้เด็กนักเรียน ซึ่งมาจากหลายชาติพันธุ์ เช่น ไทยใหญ่ ม๊ง และไทย สามารถพูดคุยสื่อสารด้วยภาษาไทยกลางได้มากขึ้น ช่วยให้เด็กมีสมาธิ และระเบียบวินัยมากยิ่งขึ้นด้วย และที่สำคัญคือแม้ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตเครื่องเล่นต่างๆออกมามาก แต่ก็เกินกำลังที่โรงเรียนและผู้ปกครองในแถบต่างจังหวัดจะจัดหาให้กับเด็กได้ การพัฒนาสนามเด็กเล่นของโรงเรียนเรา จึงทำให้นักเรียนมีโอกาสในการเล่นเพื่อพัฒนาสมองโดยไม่ต้องซื้อหาเครื่องเล่นราคาแพงๆ”
ดร.สกล ธีระวรัญญู ผู้ชำนาญการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “หากผู้ปกครองสามารถจัดสภาพแวดล้อม ภายในบ้านให้เป็นสนามเด็กเล่น เช่น จัดหากระบะทรายเล็กๆ หรือหาอ่างน้ำขนาดเล็กให้ลูกเล่น อย่างน้อยจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมองที่ดี และเล่นอย่างมีความสุข เด็กที่อยู่ในเมืองก็เปิดให้เขาได้สัมผัสอุปกรณ์การเล่นกับธรรมชาติ ส่วนเด็กตามต่างจังหวัดควรคัดสรรของเล่นที่พัฒนาสมองตรงข้ามกัน
นอกจากนี้แล้วอาจจะมีการเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัส ทั้ง 5 เช่น การใช้อุปกรณ์การเล่นที่เขย่าแล้วเกิดเสียง จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและควรมีการจัดสนามเด็กเล่นที่ส่งเสริมอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ สนามเด็กเล่นควรจัดให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก เช่น เด็กก่อนอนุบาลถึงอนุบาล เล่นเครื่องเล่นในกะบะทราย ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ส่วนเด็กในระดับประถม ก็ควรจะเลือกเครื่องเล่นที่เสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ควรระมัดระวังเรื่องของเล่นหรือสนามเด็กเล่นที่เกิดอันตราย ประการสำคัญสนามเด็กเล่นควรคำนึงถึงสัดส่วนของเด็ก และความปลอดภัยของเด็ก”
อาจารย์สุภัคศรี เวศม์วิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของเล่นและการเรียนรู้ของเด็ก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ” ของเล่นเป็นแค่อุปกรณ์ช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก หรือผู้ดูแลเด็ก การเล่นจึงเน้นการส่งเสริมพัฒนาการสมองไม่ใช่การบังคับ กระบวนการเรียนรู้แบบBBLเน้นการเลือกของเล่นที่มี อยู่ในบ้านมากกว่าการซื้อของเล่นราคาแพงพ่อแม่หรือโรงเรียนจะทำอย่างไรให้ของเล่นที่มีอยู่ช่วยพัฒนาสมองเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพสมอง เช่น เด็กขวบปีแรกแนะนำให้พ่อแม่เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ให้เด็กมีพัฒนาการ ที่สมวัย พอโตขึ้นก็เน้นการเล่นที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แสดงออกถึงความต้องการของตนเอง เช่น การเล่นดินโคลนทรายตัวต่ออย่างง่ายๆ และการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็เป็นการช่วยส่งเสริมกระบวนการ เรียนรู้และพัฒนาการทางสมองของเด็กด้วย”
แทนไท ประเสริฐกุล “ของเล่นเด็กยุคนี้ไฮเท็คและหลากหลายกว่าแต่ก่อนมาก ที่เห็นได้ชัดก็เช่น เกมคอมพิวเตอร์ เกมส์ออนไลน์ ฯลฯ สิ่งที่เข้ามาใหม่เหล่านี้ ผู้ใหญ่บางคนก็เหมารวมไปเลยว่าไม่ดีทั้งหมด ส่วนตัวเด็กเองบางทีก็หลงระเริงเล่นเอาสนุกไปเรื่อยไม่ได้คิดอะไร จริงๆ แล้วจะให้ดีสื่อควรมีการนำเสนอข้อมูลผลวิจัยล่าสุดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คนได้ชั่งน้ำหนักพิจารณาตัดสินข้อดีข้อเสียตามความเป็นจริงมากกว่า อย่างพ่อแม่บางทีห้ามลูกเล่นเกม บอกเดี๋ยวสายตาเสีย แต่กลับมีผลวิจัยใหม่ออกมาว่าเกมยิง 3 มิติช่วยทำให้เด็กสายตาไวขึ้น พ่อแม่บางคนชอบให้ลูกเล็กๆ ดูวิดิโอรายการสอนภาษา อันนี้ก็มีรายงานล่าสุดบอกว่า เด็กที่ดูรายการพวกนี้ กลับเรียนรู้ศัพท์ใหม่สู้เด็กที่ปล่อยให้เล่นกับพ่อแม่ตามธรรมชาติไม่ได้
สรุปว่าเรื่องพวกนี้มันมักมีหลายด้านเสมอ ก่อนฟันธงควรต้องถกกันให้เยอะๆ ครับ... พูดถึงการเรียนวิทยาศาสตร์ ผมชอบเพราะตัวเรานั่งอยู่ในห้องเรียน แต่ความคิดเราได้ท่องไปในที่ที่เราไม่ได้พบเจอในชีวิตประจำวัน โลกใต้น้ำ โลกดึกดำบรรพ์ อวกาศ รวมถึงได้ไขปริศนาต่างๆ ของธรรมชาติ ในบ้านเราเด็กเล็กสนุกกับการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว หนังสือ สื่อต่างๆ พิพิทธภัณฑ์ มีให้เลือกพอสมควร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยมากกว่า พอพ้นวัยระบายสีไดโนเสาร์มาแล้ว มันไม่มีอะไรมาต่อยอดให้วิทย์ยังคงสนุกต่อไปได้เรื่อยๆ เหตุนี้เองครับ ผมจึงพยายามเขียนหนังสือวิทย์ๆ ที่เด็กโตหรือผู้ใหญ่อ่านสนุกได้ออกมา
ผัดไท นิลุบล อมรวิทวัส คุณแม่นักแสดง กล่าวถึงประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตรสาวว่า “ ไม่ว่าลูกจะเล่นอะไร ผัดไทจะไม่สอนวิธีเล่นแต่จะปล่อยให้เขาคิดเอง อย่างตอนนี้เขาอายุ 12 ปี แล้ว เริ่มสนใจการเล่นสเก็ต และการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากว่าของเล่นทั่วไป ซึ่งจริงๆ รู้สึกกลัวนะ แต่ก็ห้ามไม่ได้ จึงใช้การแนะนำวิธีป้องกันอันตรายให้เขา เพื่อเขาจะได้รู้จักวิธีดูแลตัวเอง อย่างของเล่นเมื่อก่อนซื้อให้เยอะมาก เพราะเราไม่ค่อยมีเวลาว่าง จนคนใกล้ชิดในครอบครัวบอกว่า เขาเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง เวลาที่อยากได้แล้วไม่ได้ก็จะมีร้องงอแงบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่นะเราเริ่มปลูกฝังเหตุผลให้เขายอมรับว่า ต่อไปนี้บางอย่างต้องรองบ หรือให้เขาหยอดกระปุกสะสมเพื่อซื้อเองจะได้รู้คุณค่าของเงินและของเล่นด้วยค่ะตอนนี้เขาก็เข้าใจเราและฟังเหตุผลมากขึ้น ”
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
แผนกสื่อสารสาธารณะ โทรศัพท์ 02686 2999 ต่อ 234