กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ซีพีเอฟ
LPN ชูศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับภาคเอกชนสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แรงงานที่ทำงานในประเทศไทย เดินหน้าสานต่อโครงการฯ ร่วมกับซีพีเอฟเป็นปีที่ 2 เน้นสร้างความสัมพันธ์กับแรงงานใกล้ชิดมากขึ้น
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ มูลนิธิ LPN กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีสำหรับความร่วมมือระหว่าง LPN บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในการก่อตั้งและดำเนินการศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN เป็นศูนย์รับเรื่องราวของพนักงานที่ดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นกลาง ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และการดูแลแรงงานตามหลักสากล และมูลนิธิ LPN และซีพีเอฟ จะยังสานต่อการดำเนินงานของ Labour Voices Hotline เป็นปีที่ 2 โดยในปี 2562 ที่จะร่วมมือปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมที่เพิ่มความใกล้ชิดระหว่างบริษัทกับพนักงานระดับแรงงานทุกเชื้อชาติมากขึ้น
"ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN เป็นความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยผนวกจุดแข็งของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติกว่า 20 ปีมาช่วยกันยกระดับมาตรฐานการจัดจ้างและบริหารจัดการแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล" นายสมพงค์กล่าว
ศูนย์รับเรื่องราวของพนักงานที่ดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นกลาง อย่าง Labour Voices Hotline by LPN ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในความใส่ใจเรื่องของสิทธิมนุษยชนของซีพีเอฟ องค์กรที่เป็นนายจ้าง ให้พนักงานระดับแรงงานที่ทำงานกับซีพีเอฟ ทุกคน ทุกเชื้อชาติ สามารถสื่อสารเรื่องต่างๆ ด้วยภาษาตนเอง อย่างสะดวกใจเหมือนพูดคุยกับเพื่อนที่ไว้ใจได้ และเป็นเพื่อนที่มีความรู้สามารถให้คำแนะนำแก่แรงงาน และช่วยกระตุ้นให้แรงงานมีส่วนร่วมเสนอแนะบริษัทฯ เพื่อช่วยให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่และทำงานในประเทศไทยได้อย่างปกติสุข ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
นายสมพงค์กล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานในปีที่ 2 จะเน้นกิจกรรมเชิงรุกมากขึ้น เปิดโอกาสให้องค์กรนายจ้างและแรงงานใกล้ชิดกันมากขึ้นเช่น การเยี่ยมบ้านและหอพักของแรงงาน การพูดคุยกับแรงงานเชิงลึก รวมถึงการพัฒนาแกนนำของแรงงานขึ้นมาคอยดูแลเพื่อนแรงงาน เพื่อขยายเครือข่ายการดำเนินงานตามหลักสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับแรงงานทุกคนอย่างครอบคลุม และที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมเห็นถึงความเอาจริงเอาจังของภาคเอกชน อย่าง ซีพีเอฟ ในการตรวจสอบการจัดจ้างแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ต้นทาง และให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักการสากล
นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปีหน้า LPN ยังร่วมกับ ซีพีเอฟจัดอบรมให้ความรู้แก่แกนนำแรงงานในโรงงานต่างๆ ของซีพีเอฟต่อเนื่องจากปีนี้ที่มีจัดการอบรม เพื่อส่งเสริมให้แรงงานรู้จักและเข้ามาใช้บริการศูนย์ Labour Voices Hotline อย่างทั่วถึง รวมทั้ง เป็นการเพิ่มพูนความรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้แรงงานทุกเชื้อชาติของซีพีเอฟสามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมีอย่างครบถ้วน
"ความรู้กฎหมายและสิทธิด้านแรงงาน จะช่วยให้พนักงานซีพีเอฟทุกคน รวมถึงคนงานข้ามชาติ สามารถดำเนินชีวิตและทำงานอย่างมั่นใจ ไม่ต้องหวาดระแวง และแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังเป็นอีกพลังเครือข่ายช่วยป้องกันและขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบที่อาจจะเกิดกับคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จักตั้งแต่ต้นทางจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย" นายปริโสทัตกล่าว
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกอาหารอันดับต้นๆของโลก การทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาสังคมด้านแรงงาน ช่วยสร้างการยอมรับให้กับผู้บริโภคทั่วโลกว่า ตลอดห่วงโซ่อาหารที่ผลิตจากประเทศไทย มาจากแรงงานที่ได้รับการดูแลที่ดี ภายใต้มาตรฐานสากลโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้