กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ไลฟ์สไตล์ชีวิตและการเดินทางคนกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ต่างต้องใช้ทางด่วนและทางหลวงกันอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินข่าวเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วน ล่าสุดจากเหตุเศร้าสลดเมื่อรถเบนซ์พุ่งชนรถกระบะที่จอดเสียบนไหล่ทางของทางด่วนศรีรัชเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ทำให้คนขับและผู้ร่วมทางที่ลงจากรถเสียนั้นตกลงมาเบื้องล่างเสียชีวิต 2 ราย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แนะวิธีปฏิบัติ หากรถเสียบนทางด่วน หรือทางหลวง ควรทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงและเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานวิศวกรรมโยธาและประธานคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ในหลักวิศวกรรมการทางและจราจร มีเกณฑ์เป้าหมายบริหารจัดการ 3 เรื่อง คือ ความเร็ว ความสะดวกสบาย และ ความปลอดภัย ผู้ขับรถยนต์บนทางด่วนควรขับขี่ในช่องจราจรเท่านั้น ไม่ควรขับบนไหล่ทาง และควรเว้นระยะห่างคันต่อคัน 2 วินาที หรือประมาณ 30 เมตรเป็นอย่างน้อย ไม่ขับจี้ท้ายรถคันหน้าเกินไป เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหากต้องเบรกรถกะทันหัน ข้อปฏิบัติหากเกิดเหตุรถเสียบนทางด่วนหรือทางหลวง มีดังนี้
1. ให้จอดรถชิดซ้ายบนไหล่ทาง หากไม่มีไหล่ทางให้ชิดริมมากที่สุด แล้วอย่าลงจากรถ เนื่องจากกรถที่วิ่งบนทางด่วนทุกคันมักใช้ความเร็วสูง เมื่อไม่ทันสังเกตว่ามีรถจอด หรือคนยืนอยู่ อาจเกิดการเฉี่ยวชนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2. เปิดสัญญาณไฟกระพริบคู่ (ไฟฉุกเฉิน) ตลอดเวลา และโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากสายด่วนการทางพิเศษ โทร. 1543 หรือ 1586 สายด่วนทางหลวงและมอเตอร์เวย์ ส่วนโทลเวย์ โทร. 1233 หากไม่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ให้ใช้โทรศัพท์ฉุกเฉินซึ่งเป็นตู้โทรศัพท์สีส้มที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ติดตั้งไว้บนทางพิเศษบริเวณไหล่ทางด้านซ้ายทุก 500 - 1,000 เมตร โดยกดปุ่มSOS เพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุม และควรกลับไปนั่งรอในรถ
3. วาง "กรวยยางสีส้ม" หรือ "ป้ายเตือนสามเหลี่ยมสะท้อนแสง" กั้นด้านหน้ารถและด้านหลังรถด้วยระยะห่างจากตัวรถประมาณ 30 - 50 เมตร เพื่อให้สะดุดตาเตือนรถคันอื่นที่ขับตามมา
4. เปิดฝากระโปรงท้ายขึ้นสูงไว้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้รถที่ขับมามองเห็นแต่ไกลว่ามีรถจอดเสียอยู่ข้างหน้า
และ 5. แนะนำให้ผู้ขับรถตรียมเสื้อกั๊กสีเหลือง (Safety Vest) สะท้อนแสงไว้ในรถเสมอ หลายประเทศเช่นประเทศฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายบังคับให้ผู้ใช้รถทุกคัน ต้องมีเสื้อกั๊กเหลืองสะท้อนแสงติดรถ เพื่อสวมใส่หากมีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นต้องลงจากรถ เพื่อที่รถคันอื่นจะได้มองเห็นในระยะไกลแม้ในเวลากลางคืนหรือช่วงที่มีแสงสว่างน้อย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้
อุบัติเหตุนำมาซึ่งการสูญเสียเป็นอุทาหรณ์เตือนใจแก่ผู้ขับขี่ ผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ ได้ตระหนักถึงกฏจราจร ความปลอดภัยบนท้องถนน วิธีป้องกัน เตรียมการอย่างถูกวิธี และตั้งสติหากมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและเพื่อนร่วมทาง