กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะผู้แทนการเจรจาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 (COP 24) ระหว่างวันที่ 2 - 8 ธันวาคม 2561 ณ เมืองคาโตวีเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร (Issues Related to Agriculture) และแนวทางการดำเนินงานเรื่อง "แผนปรับตัวแห่งชาติ" (National Adaptation Plan) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเป็นการดำเนินงานภายใต้ "การทำงานร่วม Koronivia" (Koronivia Joint Work program on Agriculture) ซึ่งการเจรจามุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำความรู้ต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ อาทิ ที่ดินเพื่อการเกษตร การจัดการมูลสัตว์ ความมั่นคงด้านอาหาร และภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม Roadmap ภายในปี ค.ศ.2020
ด้านประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้เน้นความต้องการให้ประเทศภาคีตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบการเกษตรซึ่งเป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูง โดยเน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีมาตรการช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านประเทศพัฒนาแล้วในรูปแบบศูนย์ข้อมูลกลาง การดำเนินการร่วมกันขององค์กรภายใต้ UNFCCC และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund เพื่อรับมือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร
ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการเกษตร อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบและข้อสรุปที่ได้จากการเจรจาฯ โดยเตรียมจัดทำเป็นท่าทีในการเจรจาตามแนวปฏิบัติของประเทศภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติภายใต้กลุ่ม 77 และจีน (G77 and China) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป โดยขณะนี้ สศก. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนภูมิอากาศด้านการเกษตร ที่เน้นการปรับตัวและผลประโยชน์ร่วมซึ่งสามารถส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยตามรายงานฉบับ 2 ปี ของประเทศไทย พบว่า ภาคการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHGs) ร้อยละ 17.32 ในปี 2015 ลดเหลือร้อยละ 15.98 ในปี 2017