กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สภาการเหมืองแร่
นายสมพร อดิศักดิ์พานิชกิจ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ 13บริษัทได้มีหนังสือด่วนถึงนายเข็มชาติ ว่องชาญกิจ ประธานสภาการเหมืองแร่เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2561 เพื่อขอให้พิจารณาถึงผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าภาคหลวงแร่บางชนิดเพื่อการส่งออก จากอัตราร้อยละ 4 เป็นอัตราร้อยละ 7ของราคาตลาดแร่ ตามที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)ประกาศกำหนดนั้น สภาการเหมืองแร่ได้มีการประสานงานเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ หากมีความคืบหน้าเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
เลขาธิการสภาการเหมืองแร่กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้าที่จะมีหนังสือร้องเข้ามายังสภาการเหมืองแร่ ทางประธานสภาการเหมืองแร่ก็ได้เข้าพบและพูดคุยกับอธิบดีกพร.มาบ้างแล้วถึงปัญหาของผู้ประกอบการเหมืองแร่ แต่เมื่อผู้ประกอบการมีหนังสือร้องเข้ามาอย่างเป็นทางการ สภาการเหมืองแร่ก็จะทำหน้าที่นำความเดือดร้อนและปัญหาพร้อมข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการไปประสานกับ กพร.กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง
"เราเห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเหมืองแร่ในสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ใช่เฉพาะประเด็นเรื่องเพิ่มค่าภาคหลวงส่งออกแร่ที่เราจะต้องติดตามแก้ปัญหาเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่สภาการเหมืองแร่ได้รับคำร้องจากผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ เช่นเรื่องประทานบัตรในเขตลุ่มน้ำ ในเขตสปก.ที่ขอต่ออายุแล้วยังไม่ได้รับอนุญาต หรือความร้อนใจของผู้ประกอบการที่ประทานบัตรอีกหลายแปลงกำลังจะหมดอายุแต่ไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร"นายสมพรกล่าว
ก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาตัวแทนผู้ประกอบการเหมืองแร่ 13 บริษัทได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้พิจารณาทบทวนการประกาศใช้กฏกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2561 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2561 เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวมุ่งหารายได้เข้ารัฐโดยการปรับปรุงการเรียกเก็บค่าภาคหลวงจากแร่ชนิดต่างๆในอัตราร้อยละ 4 จนถึงร้อยละ 10 ตามบัญชีแนบท้าย แต่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่คือ ค่าภาคหลวงเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรที่ปรับเพิ่มจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 7 แบบกระทันหันและไม่มีการหารือกันล่วงหน้า
ข้อเสนอสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการเหมืองคือ ขอความเห็นใจจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ โดยควรชะลอการบังคับใช้ไว้ก่อน แล้วจัดให้มีการหารือร่วมกันระหว่าง กพร. กระทรวงอุตสาหกรรมกับสภาการเหมืองแร่ เพื่อพิจารณาให้รอบด้าน มีการกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงที่เป็นธรรม มีมาตรการช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดผลกระทบ
13 บริษัทที่ร่วมลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย บริษัทยูนิไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ครีเอทีฟมิเนอรัล จำกัด, บริษัท 39 ศิลาทอง จำกัด, บริษัท ยูโสบ อินเตอร์เนชั่นแนล กันตัง พอร์ต จำกัด, บริษัท พารุ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, หจก. พี.โอ.เอส.ไมนิ่ง, บริษัท อัครพัฒไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ศรีมณตรา โลจิสติกส์ จำกัด, บริษัท โชคพนา(2512) จำกัด, บริษัท ไพศาลี พารวยสตีล จำกัด, บริษัท ยิปซัม เทรดดิ้ง 2044(ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ศาลาชัยสุราษฎร์ จำกัด และบริษัท พูลศักดิ์ศิลาทอง จำกัด
ประเภทของแร่ส่งออกนอกราชอาณาจักรที่ต้องชำระค่าภาคหลวงจากเดิมร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 7 ตามราคาตลาดแร่ที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)ประกาศกำหนด ได้แก่ แร่โดโลไมต์ แบไรด์ ฟลูออไรต์ เฟลด์สปาร์ แมงกานีส ยิปซัม แอนไฮไดรต์ ดินอุตสาหกรรม และหินอุตสาหกรรม