กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
องค์การอนามัยโลกประมาณการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.8 ต่อประชากรแสนคน จำนวน 22,491 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน อยู่อันดับที่ 9 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2 แต่ยังน่าห่วงในวัยอายุ 15-29 ปี โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์
ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึง ภาพรวมสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่เขต 12 พบจังหวัดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ พัทลุง ตรัง และสงขลา โดยการบาดเจ็บทางถนนและการเสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 พบว่าการบาดเจ็บทางถนน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 15-19 ปี จากการใช้รถจักรยานยนต์ ส่วนการเสียชีวิตทางถนน ลดลงจากปี 2560 ทั้งยังพบว่า วันที่เกิดเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดในวันที่ 1 มกราคม 2561 รองลงมาวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด วันที่ 31 ธันวาคม 2560 รองลงมาวันที่ 2 มกราคม 2561 ช่วงเวลาเกิดเหตุที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดระหว่างเวลา 16.00 น. – 19.00 น. ถนนที่เกิดเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ส่วนใหญ่เป็นถนนทางหลวง รองลงมาเป็นถนนทางหลวงชนบท
"ผู้บาดเจ็บจากเทศกาลปีใหม่ 2561 มีพฤติกรรมเสี่ยงที่พบ คือ ส่วนใหญ่ผู้บาดเจ็บดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ขับขี่พาหนะ เกิดจากการใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก รองลงมาเป็นรถยนต์ รวมไปถึงพฤติกรรมการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้บาดเจ็บ"
ข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จำแนกอำเภอเสี่ยงในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 จากค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559-2561 โดยในเขตสุขภาพที่ 12 มีอำเภอระดับความเสี่ยงสีแดงและสีส้ม อำเภอเสี่ยงสีแดง (จำนวนเฉลี่ยการเกิดอุบัติเหตุต่อวัน 2 ครั้งขึ้นไป) ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ส่วนอำเภอเสี่ยงสีส้ม (จำนวนเฉลี่ยการเกิดอุบัติเหตุต่อวันน้อยกว่า 2 ครั้ง) ได้แก่ อำเภอเมือง และควนขนุน จังหวัดพัทลุง อำเภอห้วยยอด ย่านตาขาว และปะเหลียน จังหวัดตรัง อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลักดันให้มีการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ โดยในรายที่เป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ให้ตำรวจดำเนินการ ส่วนรายที่ไม่สามารถเป่าได้ให้ตำรวจส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล ในด้านการป้องกัน จะเน้นการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่อำเภอและท้องถิ่น ตำบล ชุมชน โดยใช้กลไกการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และกลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและท้องถิ่น (ศปถ.อำเภอ/ท้องถิ่น/ตำบล) เพื่อบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2560 ออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือกรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน
นอกจากนี้ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาตรการป้องกันเหตุช่วงปีใหม่ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังและต่อเนื่อง 10 ข้อหาหลักได้แก่ ข้อหาขับขี่โดยใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ข้อหาขับขี่รถย้อนศร ข้อหาฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ข้อหาไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ข้อหาไม่มีใบขับขี่ ข้อหาแซงในที่คับขัน ข้อหาขับรถเมาสุรา ข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย ข้อหาขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และข้อหาใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ หากขับรถขณะเมาสุราระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จะมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนก่อนเดินทางปีใหม่นี้ ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ โทรไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง กรณีที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ควรนอนพักให้หายเมา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงระยะเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ที่สำคัญขอให้ประชาชนทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพและปลอดภัยในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ 2562 นี้โดยทั่วกัน หากพบเห็นอุบัติเหตุให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค